TH

31 January 2020

การเดินทางกับอนาคต

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มกราคม 2563
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

เข้าสู่ปีใหม่ ค.ศ. 2020 ทำให้นึกถึงเมื่อตอนผ่านสหัสวรรษใหม่ ๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าเราจะเห็นอะไรบ้างในปี 2020 บ้างก็เป็นการตั้งเป้าหมาย เช่นบางประเทศตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปีนี้ บ้างก็จะขจัดความยากจนให้หมดไป หรือไม่ก็คาดการณ์ว่า จะมีรถยนต์ที่วิ่งบนบกได้และเหาะได้ แต่ผมไม่ได้มาวิเคราะห์ว่าใครหรืออะไรทำได้ตามเป้าหรือพลาดเป้าไป แต่จะเล่าให้ฟังว่าโลกกำลังมองไปข้างหน้าว่าในอีก 30 ปี หรือในปี 2050 เราจะเห็นอะไรบ้าง

แน่นอนครับ เราคงได้ยินเรื่องเมกะเทรนด์หรือเรื่องใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษอันใกล้ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตประจำวันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือบล็อกเชน หรือ neuroscience ของอีลอน มัสก์ ที่จะถ่ายทอดสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่ง space mining เมื่อทรัพยากรโลกมีไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนประชากรที่มีอยู่ ซึ่งคาดกันว่าเราจะมีประมาณหนึ่งหมื่นล้านคนในโลกใบนี้ ถ้านึกไม่ออกว่าเยอะแค่ไหน ลองสมมติว่า เราเรียกชื่อหนึ่งคน ใช้เวลาหนึ่งวินาที (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความจริง แต่สมมติว่าทำได้) รู้ไหมครับ ว่ากว่าเราจะขานชื่อครบทุกคน ต้องใช้เวลาถึง 317 ปี คงต้องเกิดใหม่กันสักสามสี่ชาติกว่าจะเรียกชื่อครบ ฉะนั้นผลกระทบคงเป็นเรื่องที่ต้องจินตนาการมากพอสมควร แต่วันนี้จะมาเล่าว่าการเดินทางในเมืองอีก 30 ปีข้างหน้า เขาวาดภาพกันไว้อย่างไรบ้างครับ

ว่ากันว่า ไม่ว่าจะมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพียงใด ก็ไม่ได้ช่วยให้การเคลื่อนที่ของยานพาหนะบนบกดีขึ้นเลย เช่น อ๊อกซ์ฟอร์ดสตรีทในมหานครลอนดอน จุดหมายปลายทางของนักช้อป หนาแน่นขนาดที่ว่า แม้จะมีรถไฟฟ้าใต้ดินและเก็บค่าผ่านถนน (congestion charge) แต่ความเร็วเฉลี่ยของรถก็ลดจากประมาณ 15 กม. ต่อชม. ในปี 2010 เป็น 12 กม. ต่อชม. ในปี 2017 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทุกเมือง ที่ความเร็วเฉลี่ยของยานพาหนะลดลงกว่า 20% ในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา และมีข้อมูลจาก Inrix ซึ่งเป็นบริษัทจัดเก็บข้อมูลว่า โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเราในเมืองใหญ่ ใช้เวลาจอดนิ่งอยู่ในรถประมาณ 272 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 11.5 วัน (เป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งถ้าคูณด้วยประชากร จะเห็นความสูญเสียมหาศาล) ในขณะที่ความเร็วเฉลี่ยในการเดินของคน น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4-6 กม. ต่อชม. การขับรถซึ่งใช้ทั้งการลงทุนของภาครัฐในการถนน สะพานลอย ไฟจราจร ฯลฯ และของเราในการซื้อรถอีกคันละหลักล้านเพื่อเดินทางให้เร็วขึ้นเพียงเล็กน้อย น่าจะไม่คุ้มค่า จึงมีการตั้งโจทย์ว่า ในปี 2050 ที่จะมีคนกว่า 6,000 ล้านคนจาก 10,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง ควรจะออกแบบการเดินทางในมหานครที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนอย่างไร

มีการคิดว่าเราควรจะให้การเดินทางโดยพาหนะขนาดใหญ่นั้นอยู่ใต้ดินหรือบนฟ้าแล้วเหลือพื้นที่บนดินให้ ’คนเดิน’ ดีหรือไม่ ซึ่งเราเริ่มเห็นเมืองอย่างมอสโก ที่มีการขยายพื้นที่ทางเท้า แล้วลดพื้นที่รถวิ่งจาก 10 เหลือ 6 เลน หรือบาร์เซโลน่า เริ่มออกแบบระบบจราจรใหม่เป็นแบบที่เรียกว่า super block มีการแบ่งแหล่งชุมชนเมืองเป็นบล็อก แล้วออกแบบถนนหรือขนส่งสาธารณะเชื่อมแหล่งชุมชนดังกล่าว อาจจะคล้าย park and ride แต่น่าจะเป็น จอดแล้วแจว เมื่อเข้าไปอยู่ในชุมชนก็ใช้ micromobility หรือยานยนต์ขนาดเล็ก เช่น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหรือจักรยานไฟฟ้า เพื่อเดินทางภายในเมือง นอกจากการเดินเท้า

แม้ว่า micromobility จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา แต่ล่าสุดก็มีเหตุอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตในเดนมาร์ก เนื่องจากใช้ถนนร่วมกับพาหนะทั่วไป จนมีการกล่าวถึงวิธีการเพิ่มความปลอดภัยว่าควรจะมีการออกแบบทางสำหรับจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์โดยเฉพาะหรือไม่ อาจจะเป็นทางยกระดับเหมือนที่ ศ.สุชัชวีร์ได้แนะนำว่ากรุงเทพฯ ควรมีทางจักรยานข้างใต้ทางยกระดับรถไฟฟ้าหรือแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งในเมืองเซียะเหมิน ประเทศจีนก็ได้มีการสร้างทางยกระดับสำหรับจักรยานขึ้นประมาณ 8 กม. และได้รับความนิยมอย่างมาก จนบริษัท BMW มีความคิดที่จะสร้างท่อ (tube) ยกระดับทั่วประเทศเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

พูดถึง tube ทำให้นึกถึง hyperloop ซึ่งเป็นการออกแบบแคปซูลเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่า pod เพื่อให้คนเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ด้วยความเร็วสูงและค่าก่อสร้างก็ถูกว่าการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงที่ต้องลงทุนทำรางและระบบสัญญาณอย่างมาก ผมว่าผู้อ่านคงเคยได้อ่านหรือได้ยินจากแหล่งอื่น ๆ บ้างแล้ว แต่ที่จะมาเล่าคือผู้นำตลาดอย่างโตโยต้ามอเตอร์ ใน CES หรือ Consumer Electronic Shows ที่ลาส เวกัสเมื่อเดือนต้นมกราคมที่ผ่านมา ได้นำเทคโนโลยีการพัฒนา pod เป็นยานพาหนะที่ให้ความเป็นส่วนบุคคลสูง (super privacy) มาโชว์ และมองว่าจะเป็นอนาคตของการเดินทาง ซึ่งผมเองก็คิดว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนและฝนชุก สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอาจจะไม่เหมาะเท่า pod ซึ่งติดแอร์และฟังเพลงได้ อีกทั้งเทคโนโลยี 5G จะทำให้ยานพาหนะหรือ pod สื่อสารระหว่างกันได้ และขับเคลื่อนได้ตัวเอง (autonomous driving) ได้ในระดับที่ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดโดยไม่ต้องมีคนขับ เนื่องจากคุยกันเองได้ ทำให้อาจจะไม่ต้องมีแม้กระทั่งสัญญาณไฟจราจร และอุบัติเหตุจะลดลงอย่างมากอีกด้วย นอกจากนี้อาจจะไม่ต้องมีพวงมาลัยหรือกระจก อีกทั้งพื้นที่ถนนก็จะสามารถรองรับพาหนะได้มากขึ้น เนื่องจากขนาดที่เล็กลงของ pod ซึ่งก็น่าจะ disrupt รถยนต์ใช้น้ำมันอย่างแท้จริง

มีการมองกันว่าระบบขนส่งในอนาคตหรืออีก 30 ปีข้างหน้า จะเป็นแบบขนมชั้นหรือ multi-layer transportation โดยบนพื้นผิวอาจจะออกแบบให้เดินเท้า แล้วมีท่อยกระดับให้จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า สูงขึ้นไปอาจจะเป็นทางด่วนหรือรถไฟฟ้ายกระดับแบบบีทีเอสบ้านเรา และในอากาศก็จะเป็น air taxi เมื่อมีโดรนที่สามารถลำเลียงคนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ส่วนใต้ดิน นอกจากจะมีรถไฟใต้ดินแล้วก็อาจจะมี hyperloop อีกหนึ่งชั้นเพื่อเป็นการบรรทุกคนแบบข้ามเมืองหรือ interstate transportation เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ super block, autonomous pod หรือ 3D transportation ล้วนเป็นจินตนาการที่เรามองว่าการจราจรเป็นปัญหาที่ต้องแก้ ถ้าจำกันได้ ในหนังเรื่อง Back to the Future มีการพูดถึงรถบินได้ในปี 2015 ซึ่งแม้จะผ่านมาแล้ว เราก็ยังหวังว่าจะได้เห็นในอีก 30 ปีข้างหน้า สำหรับผม การมองไปในอนาคต ไม่สำคัญว่าจะถูกหรือผิด ที่สำคัญคือการสร้างความหวังให้เรามีอนาคตที่ดีขึ้นและให้โลกน่าอยู่ขึ้นครับ