TH

29 October 2021

บางจากฯ ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19

สู่พลังอาสา ส่งต่อน้ำใจ เชื่อมโยงความช่วยเหลือสู้วิกฤต

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่โลกได้รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น ปีนี้นับว่าเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง แต่ในวิกฤตก็ทำให้เห็น “น้ำใจของคนไทย” ที่หลั่งไหลจากหลายภาคส่วน สละทั้งพลังแรงพลังใจ ช่วยเหลือตามกำลังและความสามารถของตน นอกจากบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องแทบไม่ได้หยุดพัก ก็ยังมีดาราศิลปิน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ประชาชน รวมถึงการรวมกลุ่มของอาสาสมัคร เครือข่าย และเพจต่าง ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงวิกฤตนี้

“บางจากฯ ปันน้ำใจ” ต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กลุ่มบางจากฯ ได้ร่วมบรรเทาภาวะวิกฤตโควิด-19 ในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั่วประเทศ ทั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจด้านสาธารณสุข และลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและประชาชนทั่วไป ทั้งจัดทำโครงการของบริษัทฯ และส่งมอบความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานราชการ องค์กรสาธารณกุศล ศาสนสถาน ทีมงานอาสาสมัคร ฯลฯ

“เส้นด้าย” หนึ่งในผู้ส่งต่อน้ำใจจากบางจากฯ

“กลุ่มเส้นด้าย (Zendai)” เป็นจิตอาสาภาคประชาชนที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2564 เพื่อให้ความช่วยเหลือในวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะ เริ่มต้นจากภารกิจหลักในการจัดรถรับส่งผู้ป่วยไปหาที่รักษาและพาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปหาที่ตรวจหาเชื้อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“ตอนนั้นที่เราเริ่ม ระบบสาธารณสุขยังไม่วิกฤต เตียงยังไม่เต็ม ยังมีโรงพยาบาลพร้อมรองรับผู้ป่วย แต่มีปัญหาว่าผู้ป่วยหาเตียงไม่ได้ หารถพาไปรักษาไม่ได้ บางคนต้องนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอง บางคนต้องรอคอยอยู่ที่บ้านหลายวัน กว่าจะได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล บางรายก็อาการหนักหรือในที่สุดก็เสียชีวิต เราคิดว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นและมาคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง” คริส โปตระนันทน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าถึงที่มาที่ไปของ “กลุ่มเส้นด้าย (Zendai)”

ตอนแรกคิดว่าจะจบภารกิจในระยะเวลา 2 เดือน แต่สถานการณ์ก็วิกฤตมากขึ้น ขยายวงกว้าง ทำให้ต้องทำต่อเนื่อง ยิ่งเราทำเราก็มีโอกาสต่อยอด ขยายความช่วยเหลือ มองเห็นสิ่งที่ขาด อะไรที่ขาดเราช่วยเติม เช่น เมื่อขาดรถเราเติมรถ ขาด Call Center เราจัดทีมรับโทรศัพท์ ขาดจุดตรวจเราไปช่วยตรวจเชิงรุก พอวิกฤตหนักขึ้นเราจัดทีม “เส้นด้ายเหยี่ยวราตรี” เป็นหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน นำถังออกซิเจนไปช่วยผู้ป่วยตามบ้าน พร้อมหมอเส้นด้าย เพื่อให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น จัดหาเวชภัณฑ์พื้นฐานในการดูแลตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ดูแลหมาแมวที่ถูกทิ้งเอาไว้ในช่วงที่เจ้าของไปรักษาตัว

คริส โปตระนันทน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มเส้นด้าย (Zendai)”
การทำงานของ “กลุ่มเส้นด้าย (Zendai)” โดย บางจากฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุนบัตรเติมน้ำมัน ให้รถช่วยหลือรับ-ส่งผู้ป่วย

ร่วมเติมสิ่งที่ขาดด้วยเครือข่ายพันธมิตร

คริส เล่าถึงที่มาชื่อกลุ่มเส้นด้ายว่าเกิดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “เส้นของคนธรรมดา” เราเป็นคนกลางที่รวมตัวกันแล้วแข็งแกร่ง คนเดียวคงทำอะไรได้ไม่มาก แต่ถ้าทุกคนนำทรัพยากรที่ตัวเองมีมารวมกัน โดยเส้นด้ายเป็นคนช่วยจัดการ เหมือนจับปลายเส้นด้ายจากซ้ายมาเจอขวา ใครมีอะไรก็นำมาช่วยกัน สร้างเป็นเครือข่ายพันธมิตรก็จะทำอะไรได้มาก ช่วยคนได้มากขึ้น เร็วขึ้น

“เริ่มจากโทรหาเพื่อน ๆ คนใกล้ตัวที่สนใจร่วมสนับสนุน ตั้งเพจขึ้นเพื่ออัพเดตข่าวสาร ประกาศรับบริจาคโทรศัพท์มือถือที่หน้าเพจก็ได้มา 20 เครื่องเพื่อตั้ง Call Center เป็นศูนย์กลางในการรับข้อมูลจากผู้ป่วยที่ขอรับการช่วยเหลือ บางคนมีรถ เอามารถมาให้ใช้ บริษัทพลังงานอย่างบางจากฯ มีน้ำมันก็ให้บัตรเติมน้ำมันมาสนับสนุนรถช่วยเหลือรับ-ส่งผู้ป่วย คนที่ว่างมาช่วยรับโทรศัพท์ เรียกได้ว่าตอนนั้นเรามีทีมตรวจเชิงรุกที่สวยที่สุด เพราะหลายคนเป็นแอร์โฮสเตสที่ว่างงานจากโควิด”

คริส เล่าต่อว่า ถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว แต่ภารกิจของเส้นด้ายก็ยังคงดำเนินต่อไป หลาย ๆ โมเดลที่เริ่มลงมือทำตั้งแต่แรก กลายเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มและหน่วยงานอื่นนำไปทำเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะตอนนั้นยังเล็กมากคิดนอกกรอบได้ ไม่ต้องกังวลกฎระเบียบ ตอนแรกมี 20 คน แต่เป็น 20 คนที่ไม่กลัวที่จะทำสิ่งใหญ่ กล้าคิดกล้าลงมือกัน โดยไม่ได้คิดว่าปัญหาใหญ่เกินไป แต่กลับมองว่ายิ่งปัญหาใหญ่ยิ่งต้องเริ่มลงมือเลยจะได้ค่อยหาทางแก้ไป เพราะในภาวะวิกฤตต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ได้

ในภาวะวิกฤตต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
จะมานั่งแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ได้
โลกเป็นโลกใหม่ใช้กฎระเบียบแบบเดิมมาแก้..มันก็ไม่ได้
ยิ่งปัญหาใหญ่ยิ่งต้องเริ่มลงมือเลยจะได้ค่อยหาทางแก้ไป

#เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ด้วยความมุ่งมั่นยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทยโดยเฉพาะในยามวิกฤต นอกเหนือจากกลุ่มเส้นด้ายแล้ว บางจากฯ ยังได้ส่งมอบบัตรเติมน้ำมันเพื่อสนับสนุนพลังอาสาสมัครและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย ไปจนถึง วัด มูลนิธิ ทีมงานอาสา ฯลฯ โดยเฉพาะในปีนี้ ได้ส่งมอบให้กว่า 100 หน่วยงาน รวมมูลค่ากว่า 3,200,000 บาท

ซึ่งส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือโครงการ “ส่งน้ำมัน ปันน้ำใจ x2” ในช่วงล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคม 2564 ที่บางจากฯ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินสนับสนุนค่าน้ำมันรถให้กับผู้ที่ปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในโครงการ โดยบางจากฯ ร่วมสมทบให้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับบริจาค รวมเป็นเงินทั้งหมดเกือบ 1,800,000 บาท

นอกจากน้ำใจที่บางจากฯ พร้อมเสมอที่จะร่วมปันให้สังคมไทย เรายังร่วมส่ง “กำลังใจ” ให้กับทั้งผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนที่อาจจะกำลังรู้สึกเหนื่อยล้าจากภารกิจนี้ เพื่อให้ #เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ได้ในเร็ววัน