EN

05 พฤษภาคม 2565

กลุ่มบางจากฯ ยูเนสโกและเอไอที ร่วมสำรวจพื้นที่ปลูกป่าชายเลนลอยน้ำสำหรับกักเก็บ บลู คาร์บอน และพลังงานสีเขียว

ผู้บริหารและคณะทำงานของกลุ่มบางจากฯ ยูเนสโก และเอไอที เยี่ยมชมพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเร็ว ๆ นี้ นำทีมโดย Dr. Benno Böer ผู้เชี่ยวชาญโครงการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์วุฒิคุณ ดร. Oleg Shipin จากภาควิชาพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (SERD) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บีบีจีไอ และนางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บมจ. บางจาก โดยมีนายมนัส รัศมิทัต สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงผู้นำชุมชนบางน้ำผึ้ง และทีมงานร่วมให้การต้อนรับแนะนำพื้นที่และแบ่งปันประสบการณ์

กลุ่มบางจากฯ องค์การยูเนสโก และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ริเริ่มความร่วมมือสำรวจพื้นที่สำหรับพัฒนาโครงการนำร่องป่าชายเลนลอยน้ำ บลู คาร์บอน ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบางกระเจ้า และสถานที่อื่น ๆ ที่มีความเหมาะสม โดยแนวคิดเรื่องป่าชายเลนลอยน้ำมีจุดประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพมหาศาลระดับโลกของพื้นที่มหาสมุทรอันไม่จำกัด เพื่อหาวิธีธรรมชาติที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศป่าชายเลน ที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการปรับตัวของป่าชายเลนตามระบบนิเวศเพื่อเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการกักเก็บคาร์บอน การผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ‘นวัตกรรมป่าชายเลนลอยน้ำ' จะทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสในการผลิตพืชเศรษฐกิจทนเค็ม รวมไปถึงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอีกด้วย โครงการดังกล่าวได้รับการทดสอบและสาธิตในแผนการทดลองในประเทศกาตาร์ในปี 2555 และในปี 2562 ได้มีการวิจัยที่มาสนับสนุนซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ในประเทศออสเตรเลีย โดยได้มีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถผลิตชีวมวลจากป่าชายเลน (บลู คาร์บอน) ที่ลอยอยู่ในทะเลได้โดยไม่กระทบต่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนตามธรรมชาติ

ทั้งสามฝ่ายตกลงที่จะทดลองสร้างโป๊ะลอยน้ำต้นแบบที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าวัดบางน้ำผึ้งนอก อบต. บางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตรงข้ามโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ทั้งนี้ การจุดประกายโดยหน่วยงานทั้งสามสำหรับความคิดริเริ่มในครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือและความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศ บลู คาร์บอน ที่มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนอย่างมหาศาล และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้