TH

11 July 2025

37 ปีของการให้ไม่รู้จบ…

จากหนึ่งน้ำใจสู่ชีวิตนับหมื่น

วัฒนธรรมพนักงานแห่งการแบ่งปัน พื้นฐานของบางจากฯ

เพราะการบริจาคโลหิตไม่ใช่แค่ความตั้งใจจะช่วยเหลือ แต่คือการเรียนรู้คุณค่าของการให้และรับอย่างแท้จริง บางจากหลากมุมมองฉบับนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมารู้จักเบื้องหลังกิจกรรมบริจาคโลหิตของพนักงานบางจากฯ ที่เป็นมากกว่าการทำงานร่วมกับสภากาชาดไทย แต่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการให้ที่ถูกส่งต่อกันมายาวนานกว่า 37 ปี

จากจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2531 ที่พนักงานบางจากฯ กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันบริจาคโลหิตให้หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย จนถึงปัจจุบัน บางจากฯ ได้ส่งต่อโลหิตไปแล้วกว่า 13,838 ยูนิต ช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากกว่า 41,514 ราย

อาภาพร สุดหอม พนักงานบางจากฯ และประธานชมรมจิตอาสาและพัฒนาสังคม บริษัท บางจากฯ

จุดเริ่มต้นจาก 143 ยูนิต

ย้อนกลับไปในปีแรกที่เริ่มกิจกรรม พนักงานบางจากฯ บริจาคโลหิตได้รวม 143 ยูนิต แม้ในยุคนั้นยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่แพร่หลาย แต่แรงขับเคลื่อนของ “ความตั้งใจ” ทำให้กิจกรรมนี้เดินหน้าเรื่อยมา จนกลายเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของชมรมจิตอาสาและพัฒนาสังคม บริษัท บางจากฯ

คุณอาภาพร สุดหอม หรือ “คุณภา” เจ้าหน้าที่ส่วนดูแลใบอนุญาตการใช้ถัง และการจัดเก็บน้ำมัน จากส่วนนโยบายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายธุรกิจโรงกลั่น ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นประธานชมรมฯ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นเหล่านั้นได้นำพาให้การบริจาคโลหิตกลายเป็นกิจกรรมหลักที่อยู่ในแผนงานร่วมกับสภากาชาดไทยเป็นประจำทุกปี

ขยายโอกาสของการให้ให้กว้างขึ้น

คุณภาเล่าว่า จากเดิมที่กิจกรรมรับบริจาคโลหิตจัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ยอดการบริจาคลดลง ทีมงานจึงปรับแผนใหม่ เพิ่มจุดรับบริจาค และเพิ่มความถี่ของกิจกรรม โดยขยายจุดรับบริจาคเป็น 3 แห่ง ได้แก่ อาคารเอ็มทาวเวอร์ อาคารวิบูลย์ธานี และโรงกลั่นน้ำมันฯ พร้อมเพิ่มความถี่เป็น 12 ครั้งต่อปี เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มพนักงานและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปัน

จากหนึ่งร้อย...สู่ 13,838 ยูนิต ที่ส่งต่อด้วยหัวใจ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึงปัจจุบัน โครงการรับบริจาคโลหิตของพนักงานบางจากฯ ได้ส่งต่อโลหิตให้กับสภากาชาดไทย รวมทั้งสิ้น 13,838 ยูนิต ซึ่งช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยได้กว่า 41,514 ราย (โดยเฉลี่ย 1 ยูนิตช่วยผู้ป่วยได้ 3 คน) จากความร่วมมือกับสภากาชาดไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับเพิ่มจุดรับบริจาคโลหิต ทำให้เข้าถึงพนักงานได้มากขึ้น รวมถึงพนักงานกลุ่มใหม่ ๆ และนิสิตนักศึกษาฝึกงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้ ส่งผลให้จำนวนผู้บริจาคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คุณภายังกล่าวถึงแผนในปีหน้าที่ตั้งใจจะขยายกิจกรรมบริจาคโลหิตไปยังบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อให้การส่งต่อชีวิตนี้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

การเป็นผู้ให้คือหัวใจของบางจากฯ

ที่บางจากฯ การบริจาคโลหิตไม่ได้สะท้อนแค่การแบ่งปัน แต่คือการแสดงออกถึงวัฒนธรรมพนักงาน “เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดถือและส่งต่อกันมาตลอด 41 ปีของการดำเนินธุรกิจ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

รถรับบริจาคโลหิต: ขับเคลื่อนการให้

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการบริจาคโลหิตคือ “รถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่” ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกทั้งแก่ผู้บริจาคและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รถคันนี้ยังช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่สะอาดปลอดเชื้อ และการดูแลความปลอดภัยของผู้ให้และผู้รับโลหิตได้อย่างทันท่วงที

คุณภาเล่าให้เราฟังว่า รถรับบริจาคโลหิตไม่เพียงเป็นเครื่องมือทางกายภาพ แต่เป็นเหมือน “สะพาน” ที่เชื่อมต่อระหว่างน้ำใจของผู้ให้ กับชีวิตของผู้รอรับ

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้บริหารของบริษัทฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทน้อมเกล้าฯ ถวายรถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ขนาด 8 เตียง จำนวน 1 คัน เพื่อใช้ในภารกิจของสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี บางจากฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "เติมสุข สู่สังคม" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยการส่งมอบรถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ครั้งนี้ นับเป็นรถคันที่ 2 ต่อจากคันแรกที่ส่งมอบในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการดำเนินธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2558

สะพานเชื่อมการแบ่งปัน

เมื่อเราถามว่าเหนื่อยไหม กับภารกิจที่อยู่นอกเหนือหน้าที่การงาน ต้องประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ภายใน คุณภาบอกกับเราว่า “ไม่เหนื่อยเลยค่ะ รู้สึกดีที่ได้ทำอะไรเพื่อสังคม การได้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนที่อยากให้ความช่วยเหลือ กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้จะเป็นการให้ ที่เราไม่รู้ว่าปลายทางคือใคร แต่อย่างน้อยเราได้ให้แล้ว และเป็นการให้โดยตรงกับเพื่อนมนุษย์ ผู้ให้รู้สึกดีแล้ว แต่เชื่อว่าผู้รับจะรู้สึกดียิ่งกว่า”

และคุณภาจบการพูดคุยด้วยการเชิญชวนเพื่อนพนักงานบางจากฯ และประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง มาร่วมบริจาคโลหิตกับสภากาชาดไทย เพื่อสัมผัสพลังของ “การให้โดยไม่มีเงื่อนไข” และในวันที่เราอาจกลายเป็นผู้รับ จะยิ่งเข้าใจว่าการให้ในวันนี้ มีความหมายเพียงใด