TH

22 October 2021

รอยเท้าน้ำบนความยั่งยืน (Water Footprint)

บางจากฯ กับความมุ่งมั่นที่จะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านมุมมองของวิศวกรสิ่งแวดล้อม

“หน้าที่ของวิศวกรสิ่งแวดล้อมอย่างผม ไม่ใช่ปลูกต้นไม้นะครับ แต่เรามุ่งศึกษาหาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิตแบบ 360 องศา ทั้ง น้ำ อากาศ กากของเสียอุตสาหกรรม ดิน น้ำใต้ดิน รวมถึงเรื่องโลกร้อนต่าง ๆ ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ” หนุ่ม - ดร. เอนกประชา แก้วมณี ผู้จัดการส่วนนโยบายและแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม ณ ใจกลางพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก

ดร. หนุ่ม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากในหมู่ผู้คุ้นเคย เป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมคนแรกของบางจากฯ ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานในสิ่งที่รักที่สนใจ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยปริญญาเอกด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากทุน JICA (Japan International Cooperation Agency) ซึ่งในวันนี้ เขาก็ยังคงเดินหน้าปรับตัวรับกระแสโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายในการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกบริษัท ควบคู่ไปกับงานด้านสิ่งแวดล้อมในโรงกลั่นน้ำมันบางจากแบบครบวงจรตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การหาวัตถุดิบในการผลิต ไปจนถึงปลายน้ำ ที่ได้ผลิตภัณฑ์ส่งออกนอกรั้วโรงกลั่นฯ ไปสู่ผู้ใช้พลังงาน

“รีไซเคิลน้ำ” หนึ่งในกลไกสร้างความยั่งยืนกลุ่มบางจากฯ

หนึ่งในความภูมิใจที่สัมผัสได้จากการพูดคุยกับ ดร. หนุ่ม คือ หน่วยผลิตน้ำรีไซเคิล ภายในบริเวณโรงกลั่นบางจากฯ ที่เป็นการนำเทคโนโลยีการรีไซเคิลเข้ามาช่วยให้โรงกลั่นฯ สามารถนำน้ำประปาที่ผ่านการใช้ในกระบวนการผลิตแล้วกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ถึง 60 % ของน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตก่อนหน้า หรือประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (1 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับ 1,000 ลิตร) ทำให้ โรงกลั่นบางจากฯ เป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ใบรับรองมาตรฐาน Water Footprint หรือรอยเท้าน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ จากสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“จริง ๆ แล้วสิ่งแวดล้อมที่เราดูแลมีหลายด้าน แต่ “น้ำ” เป็นเรื่องสำคัญที่ตอนนั้นยังไม่มีใครมุ่งเน้นจัดการด้านนี้ เรื่องอื่นเราก็ไม่ได้ทิ้งนะครับ แต่เน้นเป็นพิเศษในด้านการบริหารจัดการน้ำ เพราะน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตภายในโรงกลั่นฯ มี 3 แหล่ง หลัก ๆ คือ น้ำประปา รองลงมา คือ น้ำบาดาล ที่สำรองไว้ใช้เสริม ส่วนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นสำรองใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้น ยิ่งเรานำน้ำทิ้งมารีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนใช้ใหม่ได้มากเท่าไร เท่ากับว่าเรามีส่วนช่วยทั้งลดการปล่อยน้ำทิ้งและลดการใช้น้ำประปาไปพร้อมกัน ถือเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกทางหนึ่ง”

‘หน่วยผลิตน้ำรีไซเคิล’ ภายในโรงกลั่นบางจาก ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในประเทศไทย
ที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน Water Footprint หรือรอยเท้าน้ำ
เพื่อบริหารจัดการน้ำตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์
ที่บางจากฯ ทุกคนคือ ‘ทีม’ พร้อมจะขับเคลื่อนกับองค์กรสีเขียวแห่งนี้

ดร. เอนกประชา เล่าถึงที่มาที่ไปเบื้องหลังความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของโรงกลั่นบางจากฯ ว่า หลังจากเข้าทำงานกับบางจากฯ ได้ประมาณ 5 ปี ก็ได้รับทุนเรียนปริญญาเอกด้านน้ำ ทำให้ไม่รีรอที่จะทำวิจัยเรื่องที่เขาสนใจ คือการรีไซเคิลน้ำ หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานที่บางจากฯ ก็ได้นำเอาความรู้นี้กลับมาใช้ จนเกิดเป็น หน่วยผลิตน้ำรีไซเคิล จากการสนับสนุนด้านงบประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อส่งเสริมการนำน้ำทิ้ง (ซึ่งผ่านการบำบัดเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดจนพร้อมทิ้งแล้ว) มารีไซเคิลด้วยระบบอาร์โอ (Reverse Osmosis System) ที่มีคุณภาพเทียบเท่าเทคโนโลยีผลิตน้ำดื่ม เพื่อให้น้ำนั้นสามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตครั้งใหม่ได้

ก้าวสู่โลกกว้าง ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย “ใจ”

ดร. หนุ่มบอกเราว่า ณ วันนี้ บางจากกับเรื่องของ “น้ำกับความยั่งยืน” ถ้ามี 5 ดาว เขาพอใจในระดับ 4.5 ในฐานะที่ทำจนรู้ จนสามารถแบ่งปันให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ อีก 0.5 คือมองเผื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต สำหรับเขาแล้ว ความท้าทายที่เน้นย้ำกับตัวเองอยู่ตลอด คือการเปิดโลกกว้าง ทั้งไปดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน และทำให้คนอื่นเห็นในสิ่งที่บางจากฯ ทำ ซึ่งดีต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ผสมกับเรื่องของสังคมและจิตใจคือความรู้สึกของผู้คนที่ต้องไปควบคู่กัน ดังนั้น จากเมื่อก่อนที่ผมจะเป็นวิศวกรที่นั่งทำงานอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ มุ่งแต่จะทำให้ได้มาตรฐานหรือเกินมาตรฐาน จนเราโตขึ้น ได้เรียนรู้ว่าเราจะทำอยู่แค่นี้ไม่ได้ เราต้องเดินออกไปข้างนอก ไปสื่อสาร ไปแบ่งปัน ไปเรียนรู้และสร้างเครือข่าย เลยเริ่มเปิดใจก่อน ถ้าเราเปิดใจแล้วจะทำอะไรเราก็ทำได้ครับ”

‘ป้ายคุณภาพสิ่งแวดล้อมออนไลน์’ หน้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก
แสดงคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในโรงกลั่นแบบเรียวไทม์
แสดงถึงความโปร่งใส และใส่ใจสิ่งแวดล้อมของบางจากฯ อย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ ใบหน้ายิ้มแย้มและท่าทีกระฉับกระเฉงของ ดร. หนุ่ม จึงเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาทั้งภายในบริษัทฯ เองและภายนอก ในฐานะผู้บรรยายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้แทนบริษัทฯ ในการประชุมหรือมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกับหน่วยงาน และในเวทีต่าง ๆ

“เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก และเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีคำว่าหยุด
เราต้องใช้พลังงานในตัวเราวิ่งตามเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ทันและ ก้าวนำให้ได้”

ดร. หนุ่ม ทิ้งท้ายถึงภารกิจของเขาว่า “การสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญมากในการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม เพราะต้องอาศัยพลังของหลาย ๆ ภาคส่วน ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สำหรับผม คำว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเรื่องของโลกสวย หรือ เรื่องที่เราดู หรือทำอยู่คนเดียว แล้วบอกว่าเราทำดี ทำเพื่อโลก แต่ต้องร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนไปพร้อมกับทุกฝ่ายมองให้รอบด้าน เรียกว่าทำทุกอย่างให้พอเหมาะพอดี มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “บ้านบางจาก” หรือบ้านหลังที่สองตลอดระยะเวลาการทำงานนานกว่า 15 ปีของผม ได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องตลอดมา”