TH

03 December 2021

บางจากฯ น้อมนำแนวพระราชดำริ ‘ป่าเปียก’

คืนผืนป่าให้ภูหลง ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลก

“ปีนี้ชัยภูมิน้ำท่วมเสียหายหนักมากจริง ๆ” น้ำเสียงจากแม่ชีอูฐแห่งวัดป่ามหาวัน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่ถ่ายทอดมาถึงพวกเราชาวบางจากฯ นอกเหนือจากความห่วงใยและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า พวกเรายังตระหนักดีว่าภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน คือ เรื่องที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้า อยู่ยากขึ้น รุนแรงขึ้นและเกิดได้บ่อย ๆ ในเมื่ออัตราเร่งของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญของโลกร้อนคงไม่เร็วเท่าความเดือดร้อนที่อยู่ตรงหน้า

บางจากปันน้ำใจ คืนป่าภูหลงที่ชัยภูมิ อีกหนึ่งพื้นที่ที่ชาวบางจากฯ ผูกพันมากว่า 17 ปี เริ่มต้นอาจเป็นเพียงการบอกบุญผ่านผู้บริหารและเพื่อนพนักงาน สู่การสานต่อและน้อมนำแนวพระราชดำริ “ป่าเปียก” มาแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ ผืนป่าดงดิบบนเทือกเขาภูแลนคา ที่มีเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ และต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าอยู่เป็นระยะ รวมถึงครั้งที่รุนแรงที่สุดในช่วงต้นปี 2563

แม้จะมีการถอดบทเรียนหลังเสร็จสิ้นภารกิจสีเขียวที่ป่าภูหลงมาโดยตลอด แต่โจทย์ใหญ่เรื่องไฟป่าครั้งสำคัญในปี 2563 นั้นตอกย้ำว่า ภารกิจเพิ่มความเขียวในผืนป่าภูหลงอย่างยั่งยืนนั้นเริ่มยากเกินกำลัง บทเรียนครั้งนี้นำมาสู่การตั้งหลักใหม่ภายใต้ภารกิจเดิม โดยชักชวนผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กลับมาตั้งหลัก หยุดคิด ปรับใช้แนวทางใหม่ เพื่อวางแผนงานร่วมพัฒนาใน “ภารกิจคืนป่าให้ภูหลง” ด้วยการเสนอแผนงานพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ป่าเปียกและเพิ่มแหล่งน้ำ ทดแทนการปลูกป่าแบบที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

การร่วมแรงร่วมใจของชาวบางจากฯ และคนในพื้นที่ป่าภูหลง

คืนป่าภูหลงที่ชัยภูมิ ภารกิจสีเขียวที่ยังไม่จบ

ภารกิจน้อมนำแนวพระราชดำริ “ป่าเปียก” จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 10 ไร่ ซึ่งคณะกรรมการป่าและชาวบ้านได้ประชุมลงมติให้บางจากฯ เข้าสำรวจพื้นที่ ระบุพิกัด และเริ่มดำเนินงานริเริ่มสร้าง “ป่าเปียก” ร่วมกัน ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ ฝึกปลูกป่าในรูปแบบที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย หันมาปลูกป่าคู่กับปลูกกล้วย ปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาหน้าดินและลดการพังทลาย ห่มดินด้วยฟางเพื่อรักษาความชื้นในดิน ขุดดินทำร่องน้ำรอบพื้นที่ เพิ่มฝายขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อสะสมความชุ่มชื้นในดินให้ป่าภูหลง ไม่แห้ง ไม่ติดไฟง่าย เป็นการสร้างระบบการควบคุมไฟป่าในระยะยาว ด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก

แม้ปีที่ผ่านมาจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ก็ยังต้องติดตามเก็บข้อมูลอีกมาก การน้อมนำแนวพระราชดำริป่าเปียกมาใช้ แม้พื้นที่นำร่องเพียง 10 ไร่ จะคิดเป็นไม่ถึง 1% ของป่าภูหลง แต่ความร่วมมือร่วมใจนั้นมากเกิน 100% ไม่ใช่เพียงจากคนใน “บ้านบางจาก” แต่ยังมีผู้คนจากหลายภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสนับสนุนภารกิจคืนป่าให้ภูหลงแห่งนี้

การน้อมนำแนวพระราชดำริ
‘ป่าเปียก’ มาใช้ แม้พื้นที่นำร่องเพียง 10 ไร่
จะคิดเป็นไม่ถึง 1% ของป่าภูหลง
แต่ความร่วมมือร่วมใจนั้น มากเกิน 100%

น้ำใจที่ไม่หยุดนิ่ง บรรเทาผลกระทบและเร่งภารกิจลดโลกร้อน

“เมื่อภูหลงเดือดร้อนเราก็ต้องช่วย ทำอะไรได้...ก็ช่วยกันไป” คำพูดจาก ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ สะท้อนถึงพันธะสัญญาที่มุ่งหมายให้บางจากฯ เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้เส้นทางสู่ Net Zero เพราะนอกจากจริงจังเรื่องธุรกิจนวัตกรรมสีเขียวแล้ว การมีส่วนร่วมทำงานกับผู้มีส่วนได้เสียในสังคมด้านอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่บางจากฯเลือกที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนวิธีคิด ปรับกลยุทธ์ โดยหันมาน้อมนำแนวพระราชดำริป่าเปียก เพื่อคืนความเขียวขจีให้ป่าภูหลง ภารกิจช่วยบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อนที่ บางจากฯไม่เคยหยุดนิ่งและดำเนินการผ่านหลายโครงการ ทั้งปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำเพิ่มความเขียวขจีในผืนป่า เพื่อหนีการรุกรานของไฟป่า แก้ปัญหาคุณภาพดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำในดินและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวให้เกษตรกร

สภาพของ “ป่าภูหลง” ที่ต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าอยู่เป็นระยะ
ภารกิจเพิ่มความเขียวในผืนป่าภูหลงอย่างยั่งยืน
จนเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

รวมถึง การดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ “Evolving Greenovation” ที่มุ่งขยายธุรกิจสู่พลังงานสีเขียวและเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โครงการ Winnonie แพลตฟอร์มให้บริการจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และทุก ๆ ย่างก้าวที่ยึดมั่นในการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

ผืนป่าภูหลง นับเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติของบางจากฯ ซึ่งวันนี้เส้นทางสีเขียวสู่ Net Zero ของบริษัทฯ นอกจากพลังงานและนวัตกรรมสีเขียวแล้ว ยังประกอบไปด้วยการสนับสนุนการฟื้นฟูและดูแลพื้นที่สีเขียวในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งบนบกและในทะเล แหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ รวมถึงเป็นพื้นที่ทำมาหากินของผู้คนในพื้นถิ่นนั้น ๆ อีกด้วย

ป่าเปียก

พระราชดำริ “ป่าเปียก” เป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ด้วยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนกอนันต์ของน้ำจากเดิมที่เมื่อไฟไหม้ป่าขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่มักมุ่งแก้ปัญหาด้วยการระดมสรรพกำลังกันดับไฟป่า โดยลืมหลักการสำคัญอย่างการใช้ความชุ่มชื้น มาช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลา ไฟป่าจึงเกิดได้ยาก เป็นการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลดียิ่ง

วิธีสร้าง “ป่าเปียก”

  • ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่าง ๆ ปลูกตามแนวคลอง
  • สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน
  • ปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อย ๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ
  • สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า “Check Dam” ขึ้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะ ๆ
  • สูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อย ๆ ไหลซึมดิน
  • ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่น