TH

21 January 2022

บางจากฯ บนเส้นทางอาคารลดคาร์บอนครบ 10 ปี สู่ภารกิจ Carbon Neutral Building

“ที่บางจากฯ เราจะเห็นประกาศแจ้งบ่อย ๆ เกี่ยวกับกำหนดการเปลี่ยนฟิลเตอร์ ล้างแอร์ ฯลฯ ถ้าดูเผิน ๆ อาจจะดูปกติ แต่เบื้องหลังความบ่อยนั้นคือการบำรุงรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เราทำเพราะใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องประสิทธิภาพการใช้ไฟ บางครั้งเรายอมจ่ายเพิ่ม เพื่อให้ใช้พลังงานลดลง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงนั่นคือหัวใจสำคัญ”

สุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กรดิจิทัล บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเรื่องราวการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้านบางจากว่า นอกจากการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยภาพรวมทั้งไฟฟ้า น้ำ หรือขยะแล้ว เรื่องของการบำรุงรักษา (Maintenance) เป็นส่วนสำคัญที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าจะมีบทบาทอย่างมากต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งที่บางจากฯ จะใส่ใจเรื่องประสิทธิภาพของสิ่งของที่ใช้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นระบบแอร์ ระบบไฟฟ้า ฯลฯ เพราะการบำรุงรักษาและดูแลสิ่งของต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพสามารถช่วยลดคาร์บอนลงได้กว่า 20%

ครบรอบ 10 ปี ฉลากสิ่งแวดล้อมอาคารลดคาร์บอน

จากความร่วมมือร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องของคนใน “บ้านบางจาก” ทำให้บริษัทฯ ได้รับการต่ออายุอาคารลดคาร์บอนสำหรับกลุ่มอาคารในโรงกลั่นน้ำมันบางจากเป็นปีที่ 10 แล้วในปีนี้ โดยได้เข้ารับมอบโล่แสดงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี และรับมอบตราสัญลักษณ์อาคารลดคาร์บอนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยเป็นการพิจารณาจากมาตรการอนุรักษ์พลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ อันดับแรกเลยคือด้านไฟฟ้า ที่มีการนำระบบออโตเมชั่น (Automation) เข้ามาใช้ประโยชน์ กำหนดเวลาเปิดปิดอัตโนมัติ ที่ไม่เพียงดีต่อสิ่งแวดล้อม ให้บรรยากาศอบอุ่น แลดูสวยงาม แต่ยังมีการออกแบบให้เหมาะสมและดีต่อสายตาพนักงานด้วย เพราะสิ่งสำคัญในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมในอาคาร นอกจากมุ่งช่วยสิ่งแวดล้อมภายนอกแล้ว ส่วนของพนักงานจะต้องรู้สึกด้วยว่าทำแล้วดีต่อเขาเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีการใช้พลังงานทดแทนจากหลังคาโซลาร์เซลล์ ในบริเวณอาคารอีกด้วย

“ด้านอื่น ๆ อย่างการใช้น้ำ เราก็เปลี่ยนชุดสุขภัณฑ์ในอาคารเป็นแบบประหยัดน้ำและเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของผู้ใช้อาคาร มีการหมุนเวียนน้ำจากส่วนบำบัดมาใช้ในการทำสวน หรือการใช้สารทำความเย็น ที่มีการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศตามมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด และเปลี่ยนตามรอบ 8 ปี”

สิ่งสำคัญในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมในอาคาร
นอกจากมุ่งช่วย สิ่งแวดล้อมภายนอกแล้ว
พนักงานจะต้องรู้สึกด้วยว่า ทำแล้วดีต่อเขาเหมือนกัน

สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า การจัดการต่าง ๆ รวมไปถึงมาตรการลดปริมาณขยะ ด้วยการลดการใช้กระดาษ ลดการใช้พลาสติก สู่การใช้เครื่องเปลี่ยนขยะจากอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ พื้นที่อาคารซึ่งล้อมรอบด้วยต้นไม้จำนวนมาก มีการจัดการเศษไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยโครงการเปลี่ยนวัชพืชเป็นปุ๋ยเพื่อกำจัดขยะวัชพืชและลดการผลิตใหม่ ตลอดจนมาตรการสนับสนุนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ อย่างการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด พร้อมติดตั้งตู้ชาร์จ EV เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงาน

พัฒนาต่อเนื่อง เตรียมพร้อมสู่อาคารที่มีความเป็นกลางคาร์บอน

“คนในบ้านบางจากส่วนใหญ่มีใจและมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมกันมานานแล้ว เพราะ Mission ของเราคือมุ่งพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้ภารกิจการผลักดันให้เป็นอาคารลดคาร์บอนที่นี่จึงอาจไม่ยากเท่าที่อื่น แต่จุดที่ยาก คือ การท้าทายตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่าขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอีก หรือ ลดขั้นตอนการทำงาน โดยไม่ใช้วิธีเดิม หรือ หันมาใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์”

สุวัฒน์ กล่าวถึงความท้าทายสำคัญลำดับต่อไปว่า เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมในอาคารให้เป็นแบบอัตโนมัติ ทั้งผู้ใช้งานอาคารสามารถแจ้งขัดข้องและผู้ดูแลสามารถตอบรับให้บริการในส่วนต่าง ๆ ได้ผ่านระบบดิจิทัล เรียกดูข้อมูลได้ ซึ่งจะช่วยทั้งยกระดับ Service Level ของงานสิ่งแวดล้อมในอาคารสู่บริการแบบห้าดาว และ ส่งผลดีต่อการวิเคราะห์และพัฒนาบริการในอนาคต เมื่อเราสามารถรู้ได้ว่ามีคนแจ้งขัดข้องหรือปัญหาด้านใดมากน้อยแค่ไหน แต่ละปัญหาใช้เวลาแก้ไขมากน้อยต่างกันอย่างไร หรือ เราจะรู้ว่าไฟฟ้าบริเวณใดของอาคารพบปัญหาบ่อยสุด หรือ เครื่องทำความเย็นมีปัญหาด้านไหนบ่อยมากที่สุด เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเรื่องประสิทธิภาพ ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงให้ได้มากที่สุด

และเป้าหมายที่สำคัญในปี 2565 นี้ บางจากฯ กำลังเร่งเดินหน้าตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อทำให้อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเอ็ม ทาวเวอร์ นั้นกลายเป็น Carbon Neutral Building โดยได้มีการริเริ่มศึกษาข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากทั้งคน สิ่งของ และตัวอาคาร คิดเป็นจำนวนเท่าไร ลดได้เท่าไร และต้องชดเชยส่วนที่เหลือในปริมาณเท่าไรแล้ว เป็นการต่อยอดจากการที่อาคารนี้ได้รับ 2 ใบรับรองแห่งอาคารสีเขียวระดับนานาชาติ หรือใบรับรอง LEED (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) ของสภาอาคารเขียวสหรัฐ อเมริกา (U.S. Green Building Council : USGBC) ในระดับ Platinum เมื่อปี 2561 โดยเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยที่ได้รับใบรับรองในประเภท LEED for Commercial Interior (LEED CI) บนพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับงานตกแต่งภายในเชิงพาณิชย์

โดยตั้งเป้าไว้ว่าสำนักงานใหญ่ของบางจากฯ ณ อาคาร เอ็ม ทาวเวอร์ จะเป็นอาคารแรก ๆ ในประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และแน่นอนว่าการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอาคารเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะทำให้ บางจากฯ ก้าวสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2030 ก่อนจะถึงอีกเป้าหมายสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2050

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทุกฟันเฟืองล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยส่งเสริมเป้าหมายให้กับองค์กรได้ เพื่อให้อาคารต่าง ๆ ในกลุ่มบางจากฯ ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมัน หรือสำนักงานใหญ่ของบางจากฯ หรืออาคารอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงเป็นสถานที่ปฏิบัติงาน แต่คือพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมลดการปล่อยคาร์บอนและยังได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาระบบนิเวศโดยรวมอีกด้วย

ตราสัญลักษณ์อาคารลดคาร์บอน หรือ เกียรติบัตรฉลากสิ่งแวดล้อมและการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม พิจารณามอบให้แก่องค์กรที่มีมาตรการอนุรักษ์พลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตั้งแต่การใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้น้ำ การใช้สารทำความเย็น การกำจัดของเสีย การปลูกต้นไม้ และการสนับสนุนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเมินโดยองค์กรธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ประวัติการได้ใบรับรองของบริษัท บางจากฯ
2552-2555 ได้ใบรับรองฉลากอาคารลดคาร์บอน
2556-2558 ต่ออายุครั้งที่ 1
2559-2561 ต่ออายุครั้งที่ 2
2562-2564 ต่ออายุครั้งที่ 3
2564-2566 ต่ออายุครั้งที่ 4