TH

30 April 2018

รถวิ่งได้ล้านไมล์ ความฝัน ความจริง

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน เมษายน 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

นาทีนี้สิ่งที่ทุกคนกำลังพูดถึงในวงการยานยนต์คือรถ EV ที่จะมาแทนที่ รถ ICE (Internal Combustion Engine) หรือรถใช้น้ำมันเพื่อการเผาไหม้ ซึ่งหลายคนคาดว่าน่าจะเกิดได้ภายใน 15-20 ปี หรือคนในวงการน้ำมันอาจจะคิดว่าอีกสักสามถึงสี่สิบปีจากนี้ นานาจิตตังครับ แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นมาค่อนข้างชัดเจนคือคนรุ่นใหม่หรือ เจนเนอเรชั่น มิลเลนเนียม ไม่นิยมซื้อรถครับ ถ้าคิดจะเดินทาง ถ้าไม่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็จะใช้ ride-sharing อย่างอูเบอร์หรือแกรบ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะรถโดยสารส่วนบุคคลหรือรถเก๋งที่เราขับกันพอสมควร

เราเคยสังเกตไหมว่าการมีรถส่วนตัวเป็นความฟุ่มเฟือยอย่างมาก ผมไม่ได้หมายถึงว่ามีรถราคาแพง แล้วเกิดความฟุ่มเฟื่อย แต่รถยนต์ส่วนตัวเกือบทุกคันนั้น ถูกใช้งานวันละ น่าจะสักสองชั่วโมง คือ เดินทางจากบ้านไปที่ทำงานแล้วเดินทางกลับ บางท่านบ้านไกลก็อาจจะสักสามชั่วโมง หมายความว่าในวันหนึ่งที่มี 24 ชั่วโมง รถยนต์จะถูกใช้งานเพียงสองถึงสามชั่วโมง หรือคิดเป็น ผลิตภาพ (Productivity) ที่ประมาณ 10-15% ถ้าเราลงทุนหรือจ้างใครทำงาน ต้องจ่ายเงินแล้วได้ผลิตภาพแค่นี้ถือว่าใช้เงินฟุ่มเฟือยไหมครับ

ทีนี้เมื่อเป็นลักษณะของ ride-sharing การใช้งานของรถย่อมมากขึ้นเป็นสี่ห้าเท่าตัว ท่านผู้อ่านลองนึกถึงรถแท็กซี่ที่ต้องวิ่งวันละ 10-12 ชั่วโมง จะเห็นว่า การใช้งานย่อมต่างกันเยอะ ความทนทาน ความแข็งแรงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ต้องพิจารณามากกว่ารูปร่างความโค้งมน หรือความสวยงามของรถ จะเห็นว่ารถแท็กซี่พอวิ่งได้ไม่นานก็โทรม ยิ่งถ้าขาดการดูแล รักษา จะยิ่งแย่ นั่นคงเป็นที่มาว่า เวลาเราเลือกเรียกแท็กซี่ ถ้าเลือกได้ เรามักจะเลือกรถใหม่ เพราะรถเก่า ย่อมถูกใช้งานจนนั่งไม่สบาย ไม่ว่าจะเป็นเบาะนั่ง เสียงบานพับตอนเปิดประตู เสียงของตัวถังขณะวิ่ง แอร์ไม่เย็น ต่างๆอีกมากมาย

รถยนต์นั่งโดยส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้วิ่งได้ประมาณ 150,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 10 ปี โดยมีสมมุติฐานว่าเราขับวันละประมาณสองสามชั่วโมงหรือสัก 40-50 กิโลเมตร หรือประมาณปีละ 15,000 กิโลเมตร การออกแบบรถจึงตั้งอยู่บนโจทย์ดังกล่าว แต่เมื่อรถมีการใช้งานแตกต่างออกไปกล่าวคือเป็นแบบแท็กซี่หรือ ride-sharing มากขึ้น การออกแบบจึงต้องเปลี่ยนไป และค่ายรถขนาดใหญ่จากทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา จึงพยายามออกแบบรถที่วิ่งได้ มากกว่า 1,000,000 ไมล์กันอย่างขมักเขม้น

เริ่มมีการคิดว่ารถที่วิ่งได้หนึ่งล้านไมล์น่าจะแตกต่างจากรถที่เราขับกันในปัจจุบันพอสมควร บางค่ายบอกว่าน่าจะเหมือนเครื่องบิน ที่จะมีตารางการซ่อมบำรุงชัดเจน อย่างเครื่องโบอิ้งจับโบ้ 747 ที่ลำหนึ่งๆอยู่กับเรากว่ายี่สิบปี เป็นต้น เพราะฉะนั้น การออกแบบจึงต้องแบ่งเป็นส่วนๆ เช่นตัวถัง อาจจะต้องอยู่อย่างทนทาน ตลอดระยะล้านไมล์ ขณะที่ชิ้นส่วนต่างๆต้องสามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นมือจับ แบตเตอรี่หรือเครื่องยนต์เอง ขณะที่เบาะนั่งหรือการตกแต่งภายในรถอาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ทุกๆสองสามปีเหมือนเก้าอี้ที่นั่งในสายการบินต่างๆ ที่เมื่อเสื่อมสภาพ รวมถึง software ก็อาจจะ update ทางอากาศได้เหมือนการ update iOS เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจและดีกับโลกใบนี้คือ อายุการใช้งานของรถจะยาวขึ้นและมีผลิตภาพที่ดีขึ้นหลายเท่าตัวในแง่เศรษฐศาสตร์ซึ่งก็ทำให้การตัดค่าเสื่อมราคาทำได้นานขึ้นหรือมีต้นทุนการผลิตต่ำลง ในแง่ของโมเดลธุรกิจก็จะเปลี่ยนเป็นการให้บริการ (ส่งมอบเป็นไมล์หรือกิโลเมตร)แทนการเน้นการขายผลิตภัณฑ์ (ส่งมอบเป็นคัน) ซึ่งท้ายสุดก็ช่วยให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่ถดถอยไปของโลกใบนี้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พฤติกรรมผู้บริโภคทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น EV หรือ ICE การที่รถวิ่งได้นานขึ้นถึง หนึ่งล้านไมล์ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน อย่างไรก็ดี ผมได้แต่หวังว่าค่ายรถจะไม่เปลี่ยนโมเดลใหม่ๆมายั่วน้ำลายให้ผู้บริโภครุ่นเก่าเปลี่ยนรถก่อนกำหนดนะครับ