EN

24 ธันวาคม 2562

กลุ่มบางจากฯ เดินหน้านำนวัตกรรมพัฒนาธุรกิจ พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รองรับการเติบโตสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจชีวภาพของไทย


กลุ่มบางจากฯ เดินหน้านำนวัตกรรมพัฒนาธุรกิจ พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รองรับการเติบโตสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจชีวภาพของไทย

CEO บางจากฯ แถลงแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) โตขึ้น 2.5 เท่าภายในปี 2567 นำนวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องแนวธุรกิจ BCG Economy Model พร้อมส่ง BBGI เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มบริษัทฯ ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ ประกาศจัดตั้ง SynBio Academy สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจชีวนวัตกรรมในประเทศไทย และผุดโมเดล “Bangchak WOW” ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บางจาก และพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทฯ อย่างยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โดยภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ธุรกิจน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ผลประกอบการในปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ของทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันรวมถึงของบริษัทฯ ปรับตัวลดลงอย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ได้เตรียมกลยุทธ์ในการพัฒนาศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกระบวนการต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2563-2567 ที่จะใช้เงินลงทุน 50,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาและขยายธุรกิจ โดยตั้งเป้า EBITDA เติบโต 2.5 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน จากที่ในปี 2562 มีกำลังการผลิตเฉลี่ยที่ระดับ 112,500 บาร์เรลต่อวัน และมีอัตรากำลังการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 123,500 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงมีแผนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มกำลังการกลั่นให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 120,000 บาร์เรลต่อวันภายในปี 2563 พร้อมศึกษาการลงทุนเพื่อปรับเป็นมาตรฐานยูโร 5 ทั้งโรงกลั่น คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน ภายใต้ความมุ่งมั่นในการเป็นโรงกลั่นสีเขียวที่ทันสมัย ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของโรงกลั่นจากการดำเนินโครงการ Rocket ให้ได้ไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาทต่อปี ภายในสิ้นปี 2563

ในส่วนของธุรกิจการค้าน้ำมันโดย บริษัท BCP Trading จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปีก่อนทั้งด้านปริมาณ การค้าและธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีธุรกรรมกับบริษัทคู่ค้าใหม่เพิ่มขึ้น จะขยายธุรกิจ โดยเพิ่มยอดการจัดซื้อและจัดจำหน่ายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ ให้อยู่ในระดับ 250,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 68,000 บาร์เรลต่อวัน ในรูปแบบ Out-Out Trading ซึ่งเป็นการจัดซื้อและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศโดยไม่นำเข้าประเทศไทย ในสัดส่วนร้อยละ 50%

กลุ่มธุรกิจการตลาด ปัจจุบันแบรนด์บางจากฯ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับ 2 และมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 สามารถทำส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 16 และมีสถิติสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 16.5 ในเดือนกันยายน และได้ก้าวขึ้นมาเป็นลำดับที่ 1 ในใจของผู้ใช้บริการจากดัชนีวัดความพึงพอใจของลูกค้าตามผลประเมิน Net Promoter Score (NPS) ในปีนี้ โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้เติบโตสูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของประเทศหรือสูงขึ้นถึงร้อยละ 18 ในปี 2567 และพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อตอบโจทย์และครองใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง พัฒนางานบริการและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า สร้าง Brand Loyalty และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการบริการ พร้อมนำระบบ Digitalization มาสร้างประสบการณ์ Greenovative Experience ให้กับผู้มาใช้บริการ ควบคู่กับการปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการให้มีความเป็นเอกลักษณเฉพาะตัว (Unique Design) รวมทั้งขยายจำนวนสถานีบริการรูปแบบทันสมัย ขยายโครงข่ายสถานีบริการน้ำมันรวม 60 แห่ง ในทำเลยุทธศาสตร์ พร้อมให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ และพัฒนาต่อยอดและขยายสาขาร้านกาแฟอินทนิลรูปแบบใหม่ “Inthanin the Grocer” เพิ่มเป็น 860 สาขา พร้อมการขยายฐานผู้แทนจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการขยายจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า EV Charger ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ไม่น้อยกว่า 62 สาขาทั่วประเทศ ภายในปี 2564 และสร้างรูปแบบธุรกิจแบบใหม่เปลี่ยนจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์เป็นการนำเสนอบริการ (Products to Services)

กลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ต้นปี 2562 บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำสร้างนวัตกรรมทางพลังงานใหม่ๆ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมิ่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ยังคงสร้างความเติบโตในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ด้วยการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของบริษัทฯ ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมดจำนวน 403.5 เมกะวัตต์ มีธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบด้วย 4 เทคโนโลยี ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังน้ำจากนี้ไป บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ ตั้งเป้า EBITDA เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 สำหรับ 5 ปี ข้างหน้า (2563-2567) โดยใช้กลยุทธ์ 4Es ในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กร ได้แก่

Expanding มุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ด้วยการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โดยวิธีการพัฒนาโครงการตั้งแต่แรกเริ่ม (Organic growth) และการเข้าซื้อกิจการโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว (Inorganic growth)

Extending ขยายธุรกิจเพื่อรองรับทิศทางของธุรกิจพลังงานในอนาคต โดยการรุกข้าสู่ธุรกิจใหม่แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก อาทิ Digital energy, Energy storage, LNG to Power เป็นต้น

Enhancing การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ในองค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

และ Evaluating บริหารสินทรัพย์ด้วยการติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และพิจารณาหาพันธมิตรในการลงทุนเพิ่มเติมหากได้รับผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่พึงพอใจ

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ (จำกัด) มหาชน ได้มีการขยายกำลังการผลิตเอทานอล จากโรงงานที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จาก 200,000 ลิตรต่อวันเป็น 300,000 ลิตรต่อวัน และขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล จาก 930,000 ลิตรต่อวันเป็น 1,000,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินโครงการ
ก่อสร้างโรงกลั่นกลีเซอรีนให้บริสุทธิ์ ถือเป็นธุรกิจและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ทั้งด้านไบโอพลาสติก วัสดุชีวภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ B100 เพิ่มขึ้นตามนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ทั้งน้ำมันดีเซล B20 และ B10 เพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคต ตลอดจนหาโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มในธุรกิจพลังงานชีวภาพผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มบริษัทฯ ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังได้ประกาศจัดตั้ง SynBio Academy ร่วมกับพันธมิตรในภาครัฐและเอกชนจากทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจชีวนวัตกรรมในประเทศไทยผ่านการอบรม การจัดประชุม การให้ข้อมูล ฯลฯ ในรูปแบบต่างๆ

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ บางจากฯ เตรียมพร้อมสำหรับการรองรับอนาคตที่ไฟฟ้าจะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก ส่งผลให้แบตเตอรี่มีบทบาทสำคัญ ด้วยการถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ใน Lithium Americas Corp. ธุรกิจต้นน้ำของธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตแร่ลิเทียมในเฟสที่ 1 เพิ่มขึ้นจาก 25,000 ตันต่อปี เป็น 40,000 ตันต่อปี รวมทั้งได้รับสิทธิ์ในการรับผลิตภัณฑ์จากแผนการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในปี 2564 ไปจำหน่ายเป็นจำนวน 6,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ได้รับสิทธิ์ จำนวน 2,500 ตันต่อปี ซึ่งปริมาณแร่ลิเทียมดังกล่าว เพียงพอสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 120,000 คัน นอกจากนี้ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านบริษัท OKEA ที่นอร์เวย์ มีแหล่งน้ำมันดิบ Yme และ Grevling ในทะเลเหนือที่จะเริ่มเปิดดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบ 5 แหล่ง รวม 20 kboepd และบริษัทฯ จะยังคงแสวงหาแหล่งน้ำมันดิบและพลังงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ หรือ BiiC เน้นการเสาะหาการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจกรรมงานวิจัยพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อใช้นวัตกรรมต่อยอดขยายธุรกิจพลังงานสีเขียวและธุรกิจด้านชีวภาพทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้ลงทุนในธุรกิจชีวภาพ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ และธุรกิจพลังงานสะอาด 9 ล้านเหรียญ โดยได้ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านพลังงานของไทยด้วย

ทั้งนี้ ในด้านของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มบางจากฯ ให้ความสำคัญมาตลอดเวลา 35 ปีแห่งการดำเนินงาน ได้มีการตั้งโมเดล “Bangchak WOW” เป็นกรอบการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในพื้นที่บางจาก กทม. และพื้นที่ปฎิบัติการของกลุ่มบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุม 3 ด้านหลัก W = Well-being improvement ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลากหลายมิติ เช่นการจัดการขยะในพื้นที่ การดูแลชุมชน โครงการธุรกิจเพื่อสังคม การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพแก่กลุ่มเกษตรกร การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาสินค้าชุมชนพร้อมขยายช่องทางกระจายสินค้า ฯลฯ O = Oxygen enhancement การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ การช่วยลด PM2.5 การปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ต่างๆ ฯลฯ และ W = Water management การร่วมดูแลแม่น้ำลำคลองและพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าท่าเรือบางจาก พื้นที่บางกระเจ้า คลองบางจาก การนำเรือขจัดคราบน้ำมันออกช่วยปฎิบัติการต่างๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

“กลุ่มบางจากฯ ดำเนินธุรกิจด้วยวัฒนธรรม “พัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม” และวิสัยทัศน์ “Evolving Greenovation” เพื่อให้สามารถรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ในวันนี้ เรามีลักษณะการทำธุรกิจที่มีความหลากหลายขึ้นผ่านกลุ่มธุรกิจต่างๆ  มีการดำเนินงานในหลายประเทศและหลายภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่พอสมควรอย่างบางจากฯ สู่อนาคตให้เห็นผลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ผมก็มั่นใจว่า ด้วยกลยุทธ์ที่เราวางไว้ และความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกคน จะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนครับ” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย