EN

26 เมษายน 2560

บางจากฯ จับมือ ม.เกษตรศาสตร์ สร้างนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ-ใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านงานวิจัยและพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านชีวภาพ โดยนำจุดเด่นและความสามารถหลักของแต่ละภาคส่วนมาบูรณาการร่วมกัน พัฒนาต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ หรือนวัตกรรมและสิ่งใหม่ที่สร้างคุณค่าและประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมและประเทศชาติ ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจากฯ อาคาร M – Tower

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จากการที่บริษัท บางจากฯ ได้เปลี่ยนชื่อจาก บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์องค์กร และเพื่อสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจที่ปัจจุบันไม่เพียงแต่ทำธุรกิจด้านโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ ที่มุ่งก้าวสู่การเป็นกลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชีย โดยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน ชีวภาพ และนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพโรงกลั่นน้ำมัน และสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Bangchak Initiative Innovation Center : หรือ BiiC ขึ้นเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและนวัตกรรม สำหรับต่อยอดขยายธุรกิจชีวภาพ (BIO Product) และทรัพยากรธรรมชาติ (E&P) รองรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตอบสนองโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุค 4.0 ของรัฐบาล

“การลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งนี้ เป็นอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาความรู้ทางนวัตกรรมและพลังงาน ด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางความรู้ที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม วิศวกรรม และการเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความพร้อมทางบุคลากร เครื่องมือและห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานที่ทันสมัย สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนไทยมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของงานวิจัยพัฒนาในอนาคต บริษัท บางจากฯ ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับด้าน Energy Storage (ระบบกักเก็บพลังงาน) Green Technology / Green Material และ Bio-base Material ที่ได้ร่วมมือพัฒนากับหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ หรือภาคเอกชน เพื่อขยายและต่อยอดธุรกิจ สร้างความมั่นคงให้องค์กร

ด้าน ดร.จงรัก กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ในสาขางานวิจัยที่บริษัท บางจากฯ สนใจพัฒนา ที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การพัฒนาพลังงานทดแทน การกักเก็บพลังงาน การผลิตปาล์มน้ำมัน กระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพไบโอดีเซล เทคโนโลยีสีเขียว การจัดการของเสียฯ เทคโนโลยีทางชีวภาพ การพัฒนาและเพาะเลี้ยงสาหร่าย การพัฒนาวัสดุสีเขียวและวัสดุชีวฐาน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญ

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัท บางจากฯ จะสนับสนุน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในงานวิจัย ฝึกอบรม ทดสอบและตรวจสอบ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม และจะอนุญาตให้นักศึกษา อาจารย์ของมหาวิทยาลัย เข้าฝึกงานในบริษัท บางจากฯ หรือฝึกอบรมในสถานที่ที่เห็นสมควร รวมทั้งให้ความร่วมมือด้านวิชาการในการปฏิบัติจริง รับรองการอบรม และสนับสนุนด้านวิทยากร และประสานงานด้านการเยี่ยมชมสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลา 3 ปี

และทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสนับสนุนในส่วนของบุคลากร อาจารย์ นักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในสาขาที่เกี่ยวข้อง และวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือวิเคราะห์ ที่จำเป็นในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมดังกล่าว พร้อมให้ความร่วมมือในด้านของการพัฒนาบุคลากรของบริษัท ผ่านการฝึกอบรม และการอบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะทาง