EN

09 สิงหาคม 2560

กรมโรงงานเยี่ยมชมโรงกลั่นบางจาก ตามยุทธศาสตร์ “กรีน อินดัสทรี”

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรม นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว(Green Industry) ระดับ 5 ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน ตามยุทธศาสตร์ “กรีน อินดัสทรี” ของประเทศไทย

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายให้สถานประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ กรีน อินดัสทรี ของประเทศไทย โดยสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำ พัฒนากระบวนการผลิตและการให้บริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมควรมีมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินเพื่อไม่ให้สารเคมีอันตรายลงสู่ดินและน้ำใต้ดิน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบโรงงาน และสามารถจัดการพื้นที่ปนเปื้อนได้อย่างทันเวลาก่อนการแพร่กระจายของสารอันตรายสู่ภายนอก

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการโรงกลั่นและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงกลั่นน้ำมันบางจากให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการพัฒนากระบวนการผลิตและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

“ด้วยยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสีเขียวของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท บางจากฯ ที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท คือ การพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่กับการให้ความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน เพื่อดูแลและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคมและชุมชนในทุกๆ มิติ ทั้ง อากาศ ดิน น้ำ และของเสีย โดยบริษัท บางจากฯ ได้กำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในโรงกลั่นพร้อมนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาบริหารจัดการให้มีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ กรีน อินดัสทรีของประเทศไทยที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” นายพงษ์ชัย กล่าว

สำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงกลั่นน้ำมันบางจากด้านการบริหารจัดการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนครอบคลุมตั้งแต่มาตรฐานการก่อสร้างถังเก็บน้ำมันดิบและถังเก็บผลิตภัณฑ์ ที่มีการตรวจสอบคุณภาพถังน้ำมันและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอตามมาตรฐานสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศในส่วนของเทคโนโลยีและมาตรการด้านการควบคุมป้องกันต่างๆ ถังทุกใบในโรงกลั่นน้ำมันบางจากจะถูกควบคุมระดับน้ำมันภายในโดยระบบอัตโนมัติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งมีระบบการป้องกันการล้นถัง (Overflow Alarm system) หากพบความผิดปกติระบบ Alarm จะส่งสัญญาณไปยังห้องควบคุมเพื่อแจ้งสถานะปริมาณของเหลวในถังก่อนที่น้ำมันจะล้นถัง ทำให้สามารถยับยั้งและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ บริษัท ได้บริหารความเสี่ยงโดยการสร้างกำแพงคอนกรีตล้อมถังโดยรอบ (Dike) รองรับในกรณีที่เกิดการไหลล้น พร้อมปรับพื้นภายในกำแพงถังน้ำมันให้เป็นคอนกรีตเพื่อป้องกันการปนเปื้อนลงดินและน้ำใต้ดิน ด้านมาตรการป้องกันการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินในช่วงฤดูฝน มีการกักเก็บปริมาณน้ำฝนไว้ภายในกำแพงคอนกรีตของถังน้ำมัน เพื่อตรวจสอบคุณภาพก่อนการระบายออก

ทั้งนี้ ระบบการควบคุมพื้นที่ชั้นในของกระบวนการผลิตจะเป็นระบบปิดทั้งหมด ซึ่งของเหลวทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ในอุปกรณ์และจะไม่มีการรั่วไหลออกมาภายนอก อีกทั้งมีการตรวจสอบระบบท่อทางต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดีตลอดเวลา ส่วนมาตรการด้านการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนที่บ่อเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดิน หรือที่เรียกว่าบ่อสังเกตุการณ์น้ำใต้ดิน (Monitoring well) และจุดเฝ้าระวังการปนเปื้อนในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน ทำให้ได้บ่อที่มีคุณภาพ มีอายุการใช้งานยืนยาว และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อนึ่ง บริษัท บางจากฯ เป็นโรงกลั่นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวสูงสุดในระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จากการขยายเครือข่าย สนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Green Supply Chain) รวมทั้งสร้างกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนและผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างยั่งยืน