EN

19 มกราคม 2564

บีบีจีไอฯ – ไบโอม ผลิตเอนไซม์ชีวภาพ กำจัดสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ครั้งแรกของโลก

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และนางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ดำเนินธุรกิจบนฐานองค์ความรู้ของนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University spin-off company) ภายใต้การ บ่มเพาะจาก CU innovation hub และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมลงนาม ใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการผลิต "ผลิตภัณฑ์ชีวภาพประเภทเอนไซม์" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่มีคุณสมบัติในการทำลายโครงสร้างทางเคมีของสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้ เป็นครั้งแรกของโลก

การลงนามความร่วมมือดังกล่าว เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยนวัตกรรมชีวภาพ ของคณะนักวิจัยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการศึกษาการนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology) ซึ่งเป็นวิทยาการหนึ่งที่ก้าวหน้าและมีศักยภาพสูงในการสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ และการเกษตร โดยในครั้งนี้นำมาใช้แก้ปัญหาสารพิษตกค้างทั้งในพื้นที่ทำการเกษตรและการตกค้างในผักและผลไม้จากการเก็บเกี่ยว ที่แม้จะทำการชำระล้างด้วยการทำความสะอาดแบบวิธีทางเคมี เช่น เกลือ น้ำส้มสายชู ด่างทับทิม หรือเบคกิ้งโซดา รวมทั้งวิธีการทางกายภาพ เช่น การใช้ระบบน้ำไหลหรือการต้มนั้นยังไม่สามารถชำระล้างสารพิษฆ่าแมลงได้หมด และก่อให้เกิดการตกค้าง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเมื่อได้รับสะสมในเวลานานและในปริมาณที่มากขึ้น ก็สามารถส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า "จากกระแสความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของตนเองในหมู่ผู้บริโภค บริษัท บีบีจีไอฯ ซึ่งกำลังรุกเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง เล็งเห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ซึ่งเครือข่าย เตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ได้รายงานล่าสุดเมื่อปี 2563 ว่าสูงเกินมาตรฐานสูงโดยเฉลี่ยถึง 60% อีกทั้งยังพบว่าในผักและผลไม้ที่นิยมบริโภคกว่า 20 ชนิด เช่น คะน้า พริกขี้หนู มะเขือเทศ ผักชี องุ่น เป็นต้น มีการตกค้างของสารพิษสูงเกินมาตรฐาน 100% ทางบริษัทบีบีจีไอฯ จึงให้ความสนใจในการนำนวัตกรรมจาก Modern Biotechnology มาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อได้ทราบถึงการพัฒนานวัตกรรมของจุฬาฯ จึงมีความสนใจในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์

บีบีจีไอฯ จึงได้หารือและลงนามร่วมกับบริษัทไบโอมฯ เพื่อร่วมกันวางกลยุทธ์ของการต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยบีบีจีไอมีบทบาทในการเป็นผู้วางแผนการผลิตระดับอุตสาหกรรม การตลาด และการจัดจำหน่าย

ผมมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology) เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพประเภทเอนไซม์ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อการล้างผักและผลไม้ที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดการใช้น้ำในการล้างผักและผลไม้ รวมทั้งลดความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีไบโอมฯ เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี

ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือการต่อยอดเทคโนโลยีสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่จะผลิตภัณฑ์ชีวภาพซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภค รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีการต่อยอดสู่ธุรกิจเพื่อการพาณิชย์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนฐานองค์ความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป"