EN

03 สิงหาคม 2565

Carbon Markets Club ครบรอบ 1 ปี ช่วยกระตุ้นยอดซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิต 95% ของตลาดในประเทศ สมาชิกเพิ่ม 3 เท่าตัว

กลุ่มบางจากฯ รายงานว่า การก่อตั้ง Carbon Markets Club (CMC) ร่วมกับพันธมิตรรวม 11 องค์กร เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2564 ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคึกคักในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ทั้งระบบ TVER และ REC โดยยอดขายผ่าน CMC ภายในครึ่งแรกของปี 2565 คิดเป็นยอดรวมใกล้เคียงกับยอดขายในตลาดตลอดปี 2564 สะท้อนกระแสตื่นตัวในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาด พร้อมเชิญชวนหน่วยงานและผู้สนใจร่วมเป็นสมาชิก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ เปิดเผยว่า “แนวโน้มความสนใจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศนั้นขยับตัวสูงขึ้นอย่างน่าจับตา เป็นที่น่ายินดีที่หลังจากก่อตั้ง CMC มาครบ 1 ปี มีรายงานยอดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER และยอดขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate - REC) ผ่าน CMC ณ เดือนกรกฎาคม 2565 คือ TVER 218,167 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ REC 127,934 MWh หรือคิดเป็นปริมาณเทียบเท่ารวมประมาณ 277,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็นประมาณการปลูกต้นไม้ที่มีอายุ 10 ปี กว่า 32 ล้านต้น ใกล้เคียงกับตัวเลขซื้อขาย TVER ที่มีการรายงานตลอดทั้งปีในปี 2564 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความสนใจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สูงขึ้น เป็นผลดีกับตลาดในประเทศไทย ที่ข้อมูลในปัจจุบันบ่งชี้ว่ามีอุปทานมากกว่าอุปสงค์อยู่หลายเท่าตัว

โดยในครี่งปีแรกของปี 2565 นี้ ยอดซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER คิดเป็นร้อยละ 95 ของยอดที่มีการชดเชยและรายงานโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในขณะที่ยอดขาย REC ซึ่งมีการรายงานตัวเลขเป็นรายปีนั้น เมื่อปี 2564 มีอัตราการซื้อขาย REC ผ่าน CMC คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดซื้อขายทั้งหมด”

CMC เป็นการรวมตัวของผู้ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตและทำธุรกิจตามแนวทางคาร์บอนต่ำในลักษณะชมรม ต้อนรับสมาชิกทั้งประเภทองค์กรและบุคคล ไม่มีการเก็บค่าสมาชิกรายปี โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ 2 อย่าง คือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอน และทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบัน CMC มีจำนวนสมาชิก 40 ราย (ประเภทนิติบุคคล 28 รายและประเภทบุคคล 12 ราย) และมีแผนจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เช่น Online Webinar เป็นประจำทุกเดือน ครอบคลุมหัวข้อที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าร่วมฟังสัมมนา เช่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ Enterprise Singapore เชิญบริษัทต่าง ๆ ในประเทศสิงคโปร์มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับ climate change และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และมีการใช้สื่อเช่นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์กลุ่มสำหรับสมาชิกเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทความรายเดือนในซีรี่ส์ “The Road to Decarbonization” โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของประเทศ พร้อมทั้งบทความจากบริษัทสมาชิกจากหลากหลายธุรกิจ

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการของไทยในตลาดคาร์บอนภายในประเทศนั้น ปัจจุบัน ยังมีปริมาณไม่มากนัก เพราะตลาดคาร์บอนของไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ มีขนาดเล็ก มีอัตราเติบโตเฉลี่ย ตามข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 8.5 ต่อปี รวมถึงอัตราการตระหนักรู้ของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็ยังมีค่อนข้างน้อย เป็นเหตุผลที่ CMC ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ การให้ข้อมูลข่าวสารผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และเชิญชวนให้องค์กรและประชาชนทั่วไป มาสมัครเป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายชัยวัฒน์กล่าวเสริมว่า “CMC เป็น platform ที่รองรับทุก ๆ certification ไม่ว่าจะเป็น TVER หรือ REC รวมถึงรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจจะมีขึ้น มาเสนอขายใน Marketplace ในเว็บไซต์ www.carbonmarketsclub.com เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเลือกซื้อ เป็นการสนับสนุนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศผ่านการ ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดย อบก. และแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ขอเชิญชวนมาร่วมเป็นสมาชิก CMC ทั้งประเภทองค์กรและบุคคล เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนเพื่อโลกเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งนับเป็นความท้าทายของทุกคนร่วมกันครับ”

CMC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดย 11 หน่วยงานสมาชิกตั้งต้น ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอจำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน เครดิต ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต