EN

23 พฤษภาคม 2568

Regenerative Iteration การพัฒนาเล็กน้อยที่ไม่เล็กเลย

คอลัมน์ Everlasting Economy: Regenerative Reflections พฤษภาคม 2568 โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อย่างที่ผมเคยเล่าให้พวกเราฟังบ่อย ๆ ว่า “การเดินทางคือการเปิดหูเปิดตา” และถ้าเราช่างสังเกตสิ่งรอบตัวให้ดี ก็มักจะได้แนวคิดดี ๆ มาต่อยอดอยู่เสมอ วันนี้เลยอยากแชร์ประสบการณ์จากทริปล่าสุดเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ที่ทำให้ผมได้เห็นอีกครั้งว่า “นวัตกรรม” ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เสมอไป

หากมองไปทางฝั่งตะวันตก เรามักนึกถึงนวัตกรรมแบบเปลี่ยนโลกหรือ breakthrough innovation ย้อนไปตั้งแต่สมัย โธมัส เอดิสัน ที่ค้นพบหลอดไฟ หรือ นิโคลา เทสลา ที่ออกแบบไฟฟ้ากระแสตรง จนมาถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ออกแบบระเบิดปรมาณู ล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกทั้งสิ้น รวมถึงไอโฟนจาก สตีฟ จ็อบส์ ด้วย ซึ่งมีทั้งทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น และในอีกมุมหนึ่งก็เป็นดาบ 2 คมที่อาจก่ออันตรายมหันต์ได้เช่นกัน เบื้องหลังงานวิจัยเหล่านี้ คือการหมกตัวอยู่ในห้องทดลองเป็นเวลายาวนาน มีการทดลองผิด ๆ ถูก ๆ (ซึ่งส่วนใหญ่จะผิดมากกว่าถูก) และบ่อยครั้งต้องล้มเลิกไปเพราะทุนอุดหนุนหมด แต่เมื่อสำเร็จแล้วก็จะกลายเป็นฮีโร่ และส่งผลกระทบมากมายต่อโลก

แต่ชาวญี่ปุ่นมีปรัชญาที่แตกต่างออกไป โดยนิยมพัฒนาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สิ่งของหรืออุปกรณ์ดีขึ้น หรือ incremental improvement ซึ่งเกิดจากการพัฒนาต่อเนื่อง พอทำซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ก็อาจกลายเป็นนวัตกรรมที่มีนัยยะสำคัญ หรือ impact innovation ได้เหมือนกัน

ผมเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่น รอบนี้ไปพักที่ฮาโกดาเตะ เมืองท่าที่สวยงามบนเกาะฮอกไกโด เวลาเข้าห้องน้ำ จะเห็นว่าโถส้วมมีฝาครอบพร้อมที่ฉีดน้ำชำระ ซึ่งพัฒนาจากเมื่อหลายปีก่อน จากแบบฉีดธรรมดากลายเป็นระบบที่สามารถปรับแรงดันน้ำได้ น้ำเป็นน้ำอุ่น และฝารองนั่งก็อุ่นได้ด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอกันมาแล้ว แต่สิ่งที่ผมพบเพิ่มเติมคราวนี้คือ บริเวณด้านบนของถังน้ำชักโครก ซึ่งปกติใช้วางของเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ออกแบบให้เป็นอ่างล้างมือในตัว พอกดชักโครก น้ำสะอาดจะไหลออกจากก๊อกด้านบนให้ล้างมือ จากนั้นน้ำที่ใช้แล้วก็จะไหลลงไปเก็บในถัง เพื่อนำไปใช้ในการชักโครกครั้งต่อไป ซึ่งผมเห็นว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก เพราะเราพูดกันเสมอว่าน้ำที่ใช้ในชักโครกไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำสะอาด 100% หากสามารถใช้น้ำซ้ำได้ก็ยิ่งดี ซึ่งการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาเติมในถังชักโครกอาจไม่สะดวกและอาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าเป็นน้ำจากการล้างมือที่ยังสะอาดพอสมควร แล้วปล่อยให้ไหลลงถังโดยอัตโนมัติ ก็เป็นการ reuse ที่ง่ายและได้ผลจริง เป็นไอเดียเรียบง่าย แต่ตอบโจทย์ได้อย่างดี

พอขยับมาที่อ่างล้างหน้า ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ว่า โรงแรมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน มักเลือกใช้อุปกรณ์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น หวีหรือแปรงสีฟันที่ทำจากไม้ แต่ที่เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ผมกลับพบแปรงสีฟันที่ทำจากไม้ไผ่ และหัวแปรงขนาดเล็กมาก ประมาณ 1 ใน 3 ของแปรงทั่วไป ตอนหยิบขึ้นมาดู ก็คิดอยู่ว่า ตั้งใจทำให้เล็ก เพื่อประหยัดไม้และความยั่งยืนหรือเปล่า แต่พอได้ลองใช้กลับพบว่า หัวแปรงที่เล็กทำให้สามารถซอกซอนเข้าไปในมุมลึก ๆ ของช่องปากได้ดี และไม้ไผ่ซึ่งทั้งอ่อนและเหนียว ให้ความรู้สึกสะอาดและสบายอย่างไม่น่าเชื่อ

จะเห็นว่าเมืองที่อยู่ห่างไกลในภูมิภาค อย่างฮาโกดาเตะ แต่กลับมีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถสร้างความประหลาดใจเช่นนี้ได้ เป็นเพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ซึมลึกไปทั่วทั้งประเทศจริง ๆ น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ

ผมเองทำงานในภาคอุตสาหกรรม รู้จักคำว่าไคเซน (Kaizen) หรือ continuous improvement มาตั้งแต่สมัยเป็นวิศวกรอยู่ที่ SCG เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็คิดว่าเป็นแนวปฏิบัติที่แพร่หลายในแวดวงธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่การนำมาใช้ตามที่พบเห็นในพื้นที่ไกลโพ้นข้างต้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าเป็นปรัชญาที่ฝังอยู่ทั้งในการทำงานและวิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังปรากฏอยู่ในร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่โรงแรมในพื้นที่ห่างไกลอย่างที่ผมเล่าไปก่อนหน้านี้ ความพยายามในการทำสิ่งเล็ก ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมออย่างไม่หยุดนิ่ง นั่นแหละครับ คือหัวใจของไคเซนอย่างแท้จริง

ที่น่าภูมิใจคือโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ก็ได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ จนได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ TQA และ Global Performance Excellence Award - GPEA ทั้งที่เป็นโรงกลั่นขนาดเล็ก แต่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เพราะเรายึดหลักการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

สำหรับท่านผู้อ่านเอง ก็สามารถนำไคเซนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การจัดโต๊ะทำงานให้หยิบของได้สะดวกขึ้น การจัดเรียงของในครัวให้ใช้พื้นที่น้อยลง หรือแม้แต่การปรับลำดับงานเล็ก ๆ ให้เหมาะกับเวลามากขึ้น ล้วนเป็นการนำไคเซนมาใช้เพื่อให้การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้นะครับ

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก : https://maeda-denki.co.jp/works/2020-apartment-toilet_02/