25 กรกฎาคม 2568
Regenerative Thinking
คอลัมน์ Everlasting Economy: Regenerative Reflections กรกฎาคม 2568 โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
สมัยผมเด็ก ๆ เรียนชั้นประถมศึกษา จะมีวิชา “อ่านเอาเรื่อง” ซึ่งสมัยนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร เป็นชื่อที่พ้องกันดี ฟังดูแล้วไพเราะ แต่ความเข้าใจของผมตอนอายุเท่านั้นก็มีแค่ อ่านหนังสือก็คืออ่านหนังสือ ท่องหนังสือก็คือการจำข้อความที่อ่านมา แล้วการอ่านเอาเรื่องต่างจาก 2 อย่างที่ว่ามาอย่างไร (แอบคิดในใจว่า อ่านแล้วไปหาเรื่องใครเหรอ)
พอมาถึงรุ่นลูกผม ซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประมาณ years 7~8 หรือประมาณ ป.6 ถึง ม.1 ก็จะมีการแข่งขันอ่านหนังสือ หรือที่เขาเรียกว่า Reading Gala อีกนัยหนึ่งคือการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน ด้วยการอ่านหนังสือเยอะ ๆ แข่งขันกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตำราเรียน อาจจะเป็นนวนิยาย สารคดี หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่หนังสือกีฬา เมื่ออ่านแล้วก็มาเล่าหรือสรุปให้เพื่อน ๆ หรือครูฟัง ซึ่งแม้แต่คนที่อ่านเล่มเดียวกันมา ก็ไม่จำเป็นต้องมาสรุปให้เหมือนกัน สามารถนำมาเล่าตามมุมมองหรือการซึมซับจากการอ่านของตน
แต่ในระยะหลัง ๆ มานี้ เป็นที่สังเกตได้ว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มหายไป โดยเฉพาะการอ่านที่ลดลงในหมู่เด็ก เป็นปัญหาในหลายประเทศ หรืออาจเรียกว่าเป็นปัญหาระดับโลกก็ว่าได้ อย่างผมตอนเด็ก ๆ พอมีเวลาว่าง ถ้าไม่ดูโทรทัศน์ (ซึ่งก็มักจะถูกผู้ปกครองดุว่า วัน ๆ ดูแต่ทีวี) ก็จะหยิบหนังสือมาอ่าน แต่ในช่วง 10 ถึง 15 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้เด็กใช้เวลาว่าง (หรือแม้แต่เวลาไม่ว่าง) ส่วนใหญ่ไปกับโซเชียลมีเดียบนโทรศัพท์ ผ่านการรูด การไถ หรือไม่ก็เล่นเกมทางมือถือ ยิ่งทำให้เวลาที่เหลือเพื่อใช้ในการอ่านลดน้อยลงไปมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผ่านการพัฒนาของบริษัทที่สามารถสร้าง Chat GPT ซึ่งนอกจากจะเก่งกว่า search engine อย่าง Google แล้ว ยังสามารถย่อยหรือสรุปบทความยาว ๆ ได้ในชั่วพริบตา จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า AI จะทำงานทดแทนคนได้ และคนที่ใช้ AI ไม่เป็น จะตกงานก่อน ทำให้ทุกคนต้องพึ่งพา AI ในการทำงาน กล่าวคืออ่านน้อยลง ปล่อยให้คอมพิวเตอร์สรุปให้แทน แถมในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากงานวิจัยของ JP Morgan พบว่ามีเงินลงทุนกว่า 315,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 10 ล้านล้านบาท ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน AI ก็ยิ่งน่าจะทำให้เทคโนโลยีด้านนี้เติบโตได้อย่างรวดเร็วมากนะครับ
ในขณะที่ในสหราชอาณาจักร ก็พบว่า ความนิยมในการอ่านที่ลดลง เริ่มส่งปัญหาต่อระดับการอ่านออกเขียนได้ของประชากรชาวอังกฤษ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของประเทศลดลงถึง 4,600 ล้านปอนด์ (หรือราว 2.1 แสนล้านบาท) ต่อปี รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณราว 30 ล้านปอนด์ (1.5 พันล้านบาท) เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมานิยมการอ่านจนเป็นนิสัยอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่า เม็ดเงินนั้นแทบจะเทียบไม่ได้เลยระหว่าง 10 ล้านล้านบาทที่ใช้พัฒนา AI กับ 1.5 พันล้านบาท (คิดเป็น 0.015% หรือต่างกันหนึ่งพันเท่า) ที่จัดสรรให้เพื่อพัฒนาการอ่าน
มีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่า การอ่านตั้งแต่เด็กเล็กจะช่วยพัฒนาสมองด้าน cognitive และ mental health ซึ่งก็คือปัญญาและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อาจหมายถึงความสามารถในการใช้คำศัพท์ที่หลากหลายในการพรรณนาเหตุการณ์ ช่วยพัฒนาสมอง ทั้งในด้านการเขียนและการแสดงออก ส่วนสุขภาพจิตที่ดีนั้น ก็คือความเพลิดเพลินและจินตนาการที่เกิดขึ้นจากการอ่านนั่นเองครับ
อีกงานวิจัยหนึ่งยังพบว่า การอ่านบ่อย ๆ ช่วยพัฒนาความสามารถในการเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ และคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล หรือ critical thinking ซึ่งช่วยแยกแยะข้อมูลจริงจากข้อมูลเท็จ หรือ misinformation ที่เกิดขึ้นอย่างมากในโซเชียลมีเดียได้ดีขึ้น ทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น และงานที่ทำก็จะถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคนไปสัมภาษณ์ Mark Zuckerberg เจ้าของ Meta หรือ Facebook ว่า ถ้าเขาย้อนกลับไปอายุ 20 ได้อีกครั้ง จะเลือกสาขาวิชาอะไรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาตอบว่า critical thinking แต่ขณะเดียวกัน Meta ก็กำลังลงทุนเป็นหมื่นล้านเหรียญเพื่อพัฒนา AI ให้ทันคู่แข่ง ฟังดูอาจจะย้อนแย้งอยู่สักหน่อย ที่เจ้าของแพลตฟอร์มที่ทำให้คนอ่านน้อยลงกลับให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ทักษะที่อาจเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการอ่านหนังสือ
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ผมเติบโตมากับวิชา “อ่านเอาเรื่อง” ซึ่งในวันนี้ ผมเข้าใจแล้วว่าการอ่านเอาเรื่อง คือการอ่านเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและแยกแยะสิ่งที่สำคัญได้อย่างแท้จริง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า comprehension ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญในการจับประเด็น ไม่ว่าจะจากการพูด การอ่าน หรือการประชุม ช่วยแยกขยะออกจากสาระที่ใช้ในการตัดสินใจ ผมจึงอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้ พยายามอ่านเยอะๆ สร้างนิสัยการอ่านให้ตนเองและลูกหลาน เพื่อพัฒนาทักษะ critical thinking หรือการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล แล้วนำมาสังเคราะห์หรือ synthesis เพื่อสร้างความมั่งคั่งทั้งให้ตนเองและประเทศครับ