EN

31 กรกฎาคม 2561

ฟุตบอลโลก กับเศรษฐกิจเวียนวน

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ฟุตบอลโลกที่รัสเซียก็ได้รูดม่านจบไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนแชมป์โลกก็เป็นดังที่ทราบกันนะครับ แม้ว่าก่อนการแข่งขัน ทุกคนมองว่าฟุตบอลโลกจะขาดมนต์ขลังแล้ว เนื่องจากมีฟุตบอลแชมเปี้ยนลีกที่แข่งกันอยู่ทุกปี แถมยังเป็นการรวมดารานักเตะชั้นนำของโลกที่เล่นกันในระดับสโมสร หมายถึงทีมเวอร์คที่ซ้อมกันอย่างดี ขณะที่ฟุตบอลทีมชาติ นานๆถึงจะรวมตัวซ้อมกัน แถมสี่ปีแข่งกันที ทำให้อาจจะขาดเสน่ห์และอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากแฟนบอลเท่าที่ควร

ในเบื้องต้นมีการประเมินกันว่า ฟุตบอลโลกครั้งนี้น่าจะเป็นฟุตบอลโลกที่ประสบความสำเร็จที่สูงที่สุดครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประตูที่ยิง การแข่งขันที่มีการพลิกกันพอสมควร แต่ยังมีทีมใหญ่อย่างฝรั่งเศสเข้าชิง กฎกติกาที่ทำให้การแข่งขันยุติธรรมขึ้น บรรยากาศของการแข่งขัน และจำนวนของผู้เข้าร่วมชม และเข้าเยี่ยมประเทศรัสเซียในช่วงห้าสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน โดยคาดว่ามีนักท่องเที่ยวและแฟนบอลเข้าร่วมชมนับล้านคน ซึ่งในส่วนนี้มีทั้งแฟนบอลที่เข้าชมในสนามแข่งขัน และแฟนท้องถิ่นที่เข้าร่วมเฮฮาใน แฟนโซน หรือแฟนเฟส (Fan Zone or Fan Fest) ซึ่งในบางนัด ว่ากันว่า มารวมตัวกันกว่า 500,000 คน

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเชียร์กีฬาทุกประเภทคือ อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์ผสม เช่น เบียร์ ซึ่งจะดื่มกันไม่น้อยเลยทีเดียว บางท่านอาจจะดื่มกันถึง 4-5 แก้วต่อแมทช์การแข่งขัน ซึ่งย่อมทำให้มีแก้วพลาสติกเหลือเป็นจำนวนมาก อันเป็นขยะพลาสติกที่ยากแก่การทำลายและส่งผลต่อมลภาวะตามมา ในการแข่งขันครั้งนี้ คาดว่าจะมีแก้วต่างๆ ดังกล่าว หลายสิบล้านแก้ว ซึ่งทางผู้จัดการแข่งขันก็มีกุศโลบายที่แยบยลที่สุด และน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับผู้จัดการแข่งขันใหญ่ๆ ในอนาคต เพื่อนำไปกำจัดขยะพลาสติกจำนวนมาก สิ่งที่ผู้จัดการแข่งขันทำคือ พิมพ์วันที่ที่แข่งขัน และรายละเอียดของการแข่งขันในวันนั้นๆ ลงไปบนแก้วพลาสติก สิ่งที่ตามมาก็คือแก้วเบียร์ต่างๆ ในแต่ละแมทช์กลายเป็นของสะสมที่ผู้เข้าชม หรือเข้าไปในแฟนโซน ต้องเก็บไว้ ใครๆ ก็อยากมีแก้วเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้มาดูบอลโลกในนัดนี้ที่รัสเซีย และมีแก้วเบียร์เป็นหลักฐาน จึงกลายเป็นของหายากไป และเป็นการดูแลขยะที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง บางทีการที่แฟนบอลชาวญี่ปุ่นเก็บขยะบนอัฒจันทร์อาจจะเป็นเพราะต้องการสะสมแก้วเบียร์ก็เป็นได้

จะเห็นว่าการเพิ่มการลงทุนนิดหน่อย โดยพิมพ์วันที่และรายละเอียดแมทช์การแข่งขัน ทำให้ขยะกลายเป็นทองไปโดยปริยาย และนี่ก็คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเวียนวน (Circular Economy) ที่พยายามนำเอากลับมาใช้ เพื่อลดมลภาวะต่างๆ ของโลก และในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ แม้แต่ลูกฟุตบอลก็ได้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจเวียนวนเช่นกัน โดยลูกฟุตบอล ‘เมชทา (Mechta)’ ที่หมายถึง ความฝัน (dream) หรือ ความมุ่งมั่น (ambition) ในภาษารัสเซียนั้น ก็เป็นลูกฟุตบอลที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และที่สำคัญคือมีการฝังชิบ NFC ไว้ในลูกฟุตบอล เพื่อที่ผู้บริโภคสามารถติดตามการเล่นลูกบอลได้จากมือถือ ซึ่งนอกจากจะเก็บข้อมูลการใช้งานหรือการเล่นและเตะมันแล้ว ยังสามารถที่จะรู้ว่าลูกบอลอยู่ที่ไหน เมื่อต้องการนำไปรีไซเคิลก็จะใช้ได้ง่ายขึ้น

ผู้ผลิตลูกฟุตบอลรายเดียวกันนี้ก็ได้แสดงเจตจำนงว่าตั้งแต่ปี 2025 หรืออีกเจ็ดปีจากนี้ เสื้อผ้าและรองเท้าที่ผลิตจะไม่ใช้ใยบริสุทธิ์ที่ทำจากกระบวนการผลิตจากฟอสซิลเลย แต่จะเป็นใยที่เกิดจากการรีไซเคิลจากขวดพลาสติกหรือขยะพลาสติก และผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่เป็น สปอนเซอร์ของฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็ได้แสดงเจตจำนงเช่นกันว่าตั้งแต่ปี 2025 ขวดน้ำอัดลมทุกขวดจะถูกรีไซเคิลเช่นกัน ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งเสื้อผ้า และบรรจุภัณฑ์ต่างก็ปวารณาว่าจะใช้วัสดุที่เป็นรีไซเคิลหรือ วัสดุชีวภาพเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ของตนและลดการใช้วัสดุจากฟอสซิล

ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่เริ่มตระหนักถึงการควบคุมดูแลโลกใบนี้ของเรา ผู้บริโภคน่าจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เทรนด์นี้เกิดและยั่งยืนอยู่ได้ เริ่มจากวันนี้ เราใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เราไม่ใช้หลอดพลาสติกในการดื่มน้ำ หรือเราใช้แก้วน้ำ ถ้วยน้ำแทนขวดน้ำพลาสติก หรือถ้าจะใช้ก็ควรจะเป็นพลาสติกที่ทำจากพลาสติกชีวภาพ หรือ plant plastic ที่สังเกตได้ว่าจะมีรูปต้นไม้หรือใบไม้อยู่ข้างขวด (label) หรือไม่ก็สัญญาลักษณ์ลูกศรสามเหลี่ยมที่หมายถึงรีไซเคิลนั่นเอง เราก็จะช่วยรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่สำหรับลูกหลานอันเป็นที่รักของเราตลอดไป