EN

27 สิงหาคม 2564

ทำเหมืองในเมืองใหญ่

คอลัมน์ Everlasting Economy ฉบับเดือน สิงหาคม 2564
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หลังจาก IPCC (Intergovernmental Panel for Climate Change) ได้ออกรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคมเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนที่เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตเพื่อให้อุณหภูมิไม่เกิน 1.5 หรือ 2 องศาในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ภาวะร้อนจัดหรือ heat wave ที่ปกติจะเกิดทุกๆ 50 ปี จะกลายเป็นทุกๆ 5.5 ปี และถ้าเป็นที่ 2 องศาจะเกิด ทุกๆ 3.5 ปี ซึ่งยังไม่รวมน้ำท่วมฉับพลัน พายุฝนร้อยปี ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักและเร่งปรับตัว ซึ่งเทรนด์ที่กำลังมาและทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตก็ให้ความสำคัญมากคือ รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือ EV นั่นเอง วันนี้เลยจะมาชวนคุยในอีกแง่มุมหนึ่งของรถ EV ครับ

เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อขับรถ EV แล้ว จะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ zero emission และน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบ แต่ Reuters สำนักข่าวระดับโลกได้ทำการศึกษาและพบว่า ถ้าพิจารณาทั้งวงจรชีวิตหรือ life cycle ของรถ EV แล้ว ความคิดนี้อาจจะเปลี่ยนไป การคำนวณวงจรชีวิตคือ ตั้งแต่เริ่มผลิตแบตเตอรี่ จนกระทั่งเป็นรถทั้งคัน รวมถึงแหล่งไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จรถ EV ว่ามาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือแหล่งไฟฟ้าหมุนเวียน ซึ่ง Vijay Subramanian จาก IHS Markit (ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงิน) พบว่า เมื่อเทียบกับรถใช้น้ำมันแล้ว รถ EV ต้องวิ่งประมาณ 15,000-20,000 ไมล์ (24,000-32,000 ก.ม.) ก่อนที่จะ break-even หรือกล่าวคือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถ EV จะเท่ากับรถเติมน้ำมัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของรถ ประเทศที่ผลิต การผลิตแบตเตอรี่ และที่สำคัญคือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า ว่ากันว่า ถ้าเป็นในประเทศที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เช่น จีนหรือโปแลนด์ การ break-even อาจจะหมายถึงว่ารถ EV ต้องวิ่งไกลถึง 78,700 ไมล์หรือ 125,000 ก.ม. เลยทีเดียว

กระบวนการผลิตรถ EV นั้นจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 8.1 ล้านกรัมต่อคัน เมื่อเทียบกับการผลิตรถใช้น้ำมันที่จะปลดปล่อยประมาณ 5.5 ล้านกรัม ก่อนที่ผู้ซื้อจะขับออกจากโชว์รูม (ข้อมูลจาก Argonne National Laboratory) ตัวอย่างชัดเจนอันหนึ่งคงจะเป็นการผลิตตัวแบตเตอรี่ ที่แร่ธาตุสำคัญไม่ว่า ลิเทียม นิเกิ้ล หรือโคบอลต์ ล้วนแล้วแต่มาจากการทำเหมืองเปิดในถิ่นที่ทุรกันดาร และส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศไม่มากก็น้อย อย่างในกรณีของโคบอลต์นั้น ต้องเดินทางกว่า 20,000 ไมล์ก่อนที่จะอยู่ในรถ EV โดยเริ่มจากการทำเหมืองเปิดเพื่อเอาแร่โคบอลต์ในสาธารณรัฐคองโก ในทวีปแอฟริกา จากนั้นสินแร่จะถูกส่งไปโรงงานถลุง (refinery) ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อได้แร่ที่บริสุทธิ์แล้วจะถูกขนไปยังประเทศจีนเพื่อทำเป็นขั้ว cathode และเซลล์แบตเตอรี่ หลังจากนั้นจะถูกประกอบเป็น battery pack ที่ยุโรปหรืออเมริกา ก่อนที่จะได้นำไปประกอบใส่ในโรงงานประกอบรถยนต์ EV ในประเทศต่างๆ เพื่อจะติดสติกเกอร์ zero emission และรถคันดังกล่าวจะถูกขนไปยังโชว์รูม เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป จะเห็นว่าการเดินทางดังกล่าวได้ปล่อยคาร์บอน (carbon footprint) มากขนาดไหน อ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงคิดว่า ผู้เขียนต้องอยู่บริษัทน้ำมันแน่นอน

แต่ทว่ามีสตาร์ทอัพที่นำ circular economy หรือที่ผมเรียกว่าเศรษฐกิจวนเวียนมาช่วยพัฒนาในเรื่องนี้ โดยเฉพาะนาย JB Straubel ซึ่งเคยเป็น CTO และสมองคู่ใจของ Elon Musk ในการพัฒนารถยนต์ Tesla ที่ได้ออกมาตั้งบริษัท Redwood เพื่อพัฒนาการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไออนมารีไซเคิล โดย Straubel เชื่อว่า เฉพาะประเทศอเมริกาประเทศเดียว มีแล็ปท็อปหรือมือถือที่ใช้แล้วหรือหมดอายุแล้วกว่า 1 พันล้านเครื่อง ซึ่งในมือถือหรือแล็ปท็อปพวกนี้ใช้แบตเตอรี่แบบเดียวกับที่ใช้ในรถ EV เพียงแต่ว่าขนาดแบตเตอรี่ของรถ EV นั้นใหญ่กว่าแบตมือถือประมาณ 10,000 เท่า (หรือเราต้องรีไซเคิลมือถือใช้แล้วหมื่นเครื่องเพื่อมาใช้กับแบตเตอรี่รถหนึ่งคัน) แต่ความเข้มข้นของสารโคบอลต์ในแบตเตอรี่รถนั้น น้อยกว่าในแบตเตอรี่มือถือถึง 30 เท่า นั่นหมายความว่า ถ้าเรารีไซเคิลมือถือ แค่ 333 เครื่อง เราจะได้โคบอลต์สำหรับแบตรถ 1 คัน แล้วถ้ามีมือถือใช้แล้ว 1 พันล้านเครื่อง จะนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตรถอีวีได้เท่าไหร่ ทาง Redwood จึงเริ่มโปรแกรมที่เรียกว่า ‘ทำเหมืองในเมืองใหญ่’ หรือ Urban Mining โดยพยายามรวบรวมแล็ปท็อปหรือมือถือใช้แล้วมาเพื่อการนี้

แม้ว่าในปีที่ผ่านมายอดขายรถ EV ทั่วโลกคิดเป็น 4% ของยอดจำหน่ายรถทั้งหมด แต่ทาง BNEF (Bloomberg New Energy Finance) ก็คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 34% ในปี 2030 และกว่า 70% ในอีกสิบปีให้หลัง การขยายตัวอย่างรวดเร็วดังกล่าวย่อมทำให้เหมืองเปิดของแร่ลิเทียม นิเกิ้ล หรือโคบอลต์นั้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทัน เพราะการเปิดเหมืองแห่งหนึ่งกว่าจะใช้งานได้ต้องใช้เวลา 5 ปีหรือนานกว่านั้น การรีไซเคิลหรือ circular economy จึงเป็นกระบวนการทางเลือกที่สำคัญที่จะช่วยทำให้การผลิตเป็นได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่า 20-25% ของอุปสงค์ในอนาคตอาจจะมาจากการ ’ทำเหมืองในเมืองใหญ่’ นี้ อีกทั้งผลการศึกษาเมื่อปี 2018 ในจีนพบว่าการรีไซเคิลทองคำและทองแดงจากโทรทัศน์นั้นถูกว่ากระบวนการถลุงแร่บริสุทธิ์ถึง 13 เท่า สาเหตุหลักก็คงจะเป็นเรื่องของความเข้มข้นของทองคำในอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นชัดเจนและสูงกว่าในแหล่งธรรมชาติมาก ซึ่งแร่ลิเทียม โคบอลต์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่นแร่ลิเทียมในแหล่งใหญ่ที่มีความเข้มข้นสูงมากอย่างชิลี อาร์เจนติน่าก็มีความเข้มข้นเพียง 2-2.5% กล่าวคือ ในน้ำหนัก 100 กรัมจะสกัดลิเทียมได้แค่ 2-2.5 กรัม ซึ่งก็ทำให้กระบวนการสกัดและถลุงมีต้นทุนสูงพอสมควร นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าว่าการรีไซเคิลในแบตมือถือก็น่ามีกระบวนการที่สั้นและง่ายกว่า และก็น่าจะทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่าอีกด้วย

รถ EV เมื่อนำมาใช้งานแล้วก็เป็นรถที่ตอบโจทย์เรื่องโลกร้อนได้ดีทีเดียว แต่กว่าจะมาเป็นรถ EV ทั้งคันนั้น กระบวนการผลิตสามารถที่จะพัฒนาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกมาก การทำเหมืองในเมืองใหญ่บวกกับการออกแบบกระบวนการผลิตและขนส่งที่ดีๆ น่าจะทำให้การ break-even เมื่อเทียบกับรถใช้น้ำมันลดต่ำลงได้อีกมาก และที่สำคัญคือ circular economy ต้องไปด้วยกันกับ green economy ครับ