EN

24 ธันวาคม 2564

ช่างมือทอง

คอลัมน์ Everlasting Economy ฉบับเดือน ธันวาคม 2564
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปกติปลายปี ผมจะพยายามอัพเดทเรื่องรถ EV สาเหตุหนึ่งก็เพราะโดยธรรมชาติเราจะมีการออกรถใหม่กันเยอะ ในช่วงปลายปีต่อปีใหม่ แล้วคิดว่ารถคันต่อไปควรจะเป็นรถ EV เลยดี หรือรถ PHEV กล่าวคือรถน้ำมันที่มีแบตเตอรี่ตัวเล็ก ๆ สามารถชาร์จได้ แล้ววิ่งได้ประมาณ 30-60 กม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ก็ช่วยประหยัดน้ำมันได้เยอะ เพราะว่าวัน ๆ หนึ่ง ถ้าบ้านอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานมาก เราจะเดินทางประมาณ 50 กม. พอดี ๆ และจะทำให้น้ำมันถังหนึ่งอาจจะใช้งานได้เป็นเดือนหรือหลายเดือนเลยทีเดียว ซึ่งผมเองก็มีประสบการณ์ตรงกับรถ PHEV ที่ใช้อยู่ ที่นอกจากพละกำลังจะดีแล้ว ยังประหยัดน้ำมันเป็นเลิศอีกด้วย ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นที่เป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันและอยากจะทราบความเป็นไปของอุตสาหกรรม เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นครับ

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารระดับสูงของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีวิวัฒนาการของรถ EV น่าจะมากที่สุดในโลกนี้ก็ว่าได้ เพราะว่ายอดขายกว่า 2 ใน 3 ของรถ EV ที่ขายได้ในปีหนึ่ง ๆ นั้น อยู่ที่ประเทศจีน (ท่านผู้อ่านอาจจะเคยอ่านเจอว่าปริมาณผู้ใช้รถ EV ต่อหัวสูงสุดในโลกคือประเทศนอร์เวย์ แต่ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่เล็ก มีประชากรประมาณ 5.4 ล้านคน แม้ว่ายอดขายต่อหัวจะสูง แต่จำนวนยอดขายต่อปีนั้น นอร์เวย์มียอดขายประมาณ 1 แสนคัน ในปี 2020 เมื่อเทียบกับยอดขาย 2 ล้านคันในประเทศจีน) และก็พบว่าการซื้อรถของประชากรชาวจีนนั้น เริ่มมีการแบ่ง segment กันชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าผู้ขับขี่ต้องการแค่ขับในเมืองแบบ city car ซึ่งวัน ๆ หนึ่งเดินทางไม่เกิน 100 กม. ก็จะพยายามมองหารถที่มีแบตเตอรี่ขนาดไม่ใหญ่เกินไป แล้วทำให้ราคารถแพงเกินไป (อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า ชิ้นส่วนที่แพงที่สุดในรถ EV คือแบตเตอรี่ และยิ่งต้องการให้รถวิ่งได้ระยะไกล แบตเตอรี่ก็จะลูกใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้รถก็หนักขึ้น สุดท้ายรถต้องแบกทั้งน้ำหนักแบตเตอรี่และน้ำหนักโดยสาร จนทำให้ราคายิ่งสูงเกินไปไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าลูกเล็กลง ก็หมายถึงต้องชาร์จบ่อย ๆ ชาร์จแต่ละครั้งก็เสียเวลาเป็นชั่วโมง คนก็เลยไม่ค่อยนิยม) แต่ในประเทศจีนนั้น รถ city car จะมีแบตเตอรี่เล็ก ๆ เหมาะกับขับไปไหนมาไหนไม่ไกล แล้วกลับบ้านไปชาร์จต่อเพื่อใช้ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างที่เห็นก็คือ รถ ORA Good Cat ที่นอกจากออกแบบสวยน่ารักแล้ว ยังมีราคาที่เอื้อมถึงคือประมาณ 1 ล้านบาทต่อคัน ถ้าจะเดินทางไกล ๆ หรือบรรทุกหนัก ก็จะต้องหารุ่นอื่น เป็นต้น

แบตเตอรี่ก็ยังเป็นปัญหาโลกแตกของผู้ผลิตรถยนต์ และทางยุโรปเองนั้นก็มีความคิดที่แตกต่างกันออกไป อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า ทางค่ายพอร์ชก็ได้มีการออกแบบรถ EV โดยใช้ไฟ DC ที่แรงดันสูงกว่ารถที่มีอยู่ในตลาดกว่าเท่าตัว กล่าวคือใช้แรงดันที่ 800 โวลท์แทนระบบ 400 โวลท์ที่ใช้กันเป็นปกติ (ตามที่ผมเคยเขียนไว้ใน "แบตเตอรี่กับ BEV" ในเดือนธันวาคม 2562) ด้วยมองว่าแรงดันที่สูงขึ้นทำให้เร่งได้เร็วขึ้นโดยที่ใช้กระแสไฟน้อยลง หมายถึงลวดทองแดงที่นำไฟฟ้าในรถจะใช้น้อยลง ซึ่งจะทำให้รถน่าจะเบาลงและราคาถูกลงอีกด้วย แถมเวลาชาร์จ ที่แรงดันสูงนั้นก็จะใช้เวลาชาร์จที่สั้นลง ซึ่งก็ได้พิสูจน์ในรถ Taycan ที่ได้รับความนิยมมากเลยทีเดียว และที่แรงดันใหม่ 800 โวลท์ของรถพอร์ชกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการ EV ในอนาคต ดังที่เราได้เห็นว่าค่ายเกาหลีอย่างฮุนได และเกียได้ประกาศที่จะผลิตรถ EV รุ่นใหม่ที่แรงดันสูงในปีนี้ เหตุที่แรงดัน 800 โวลท์ไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าก็เนื่องจากแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ที่ในอดีตไม่สามารถจะรับแรงดันสูงได้ แต่เมื่อมีผู้ผลิตรถรายใหญ่ประกาศใช้มากขึ้น เหล่าซัพพลายเออร์ก็จะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามมาเช่นกัน

อย่างที่เราทราบกันว่าประเทศเยอรมันนั้นเป็นหนึ่งด้านวิศวกรรม และเมื่อพูดถึงพอร์ชแล้วนอกจากจะเป็นผู้ผลิตรถสปอร์ตที่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว ผู้ก่อตั้งพอร์ชยังเป็นคนแรกที่แนะนำให้โลกรู้จักกับรถ EV เมื่อ 120 ปีที่แล้วอีกด้วย การพัฒนา EV จึงเหมือนเป็นงานที่ท้าทายผู้ผลิตรายนี้ไม่น้อย เมื่อได้ออกแบบรถ EV แรงดันสูงแล้ว สิ่งต่อไปที่พอร์ชพยายามที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนคือตัวแบตเตอรี่ อย่างที่เราทราบกันว่านอกจากแบตเตอรี่มีน้ำหนักประมาณร้อยละสี่สิบของรถ EV แล้ว ยังเป็นส่วนที่มีต้นทุนที่สูงที่สุดอีกด้วย คิดเป็นประมาณ 30% ของต้นทุนรถ (ก่อนภาษีต่าง ๆ ในบ้านเรา) และเมื่อใช้ไปสักพักก็จะเสื่อมและหมดสภาพ และอาจจะต้องถอดเปลี่ยนทั้งคัน ราคาประมาณ 700,000 บาทก่อนภาษี ซึ่งถ้าตามอายุขัยของมันก็ประมาณแปดปี แต่บ่อยครั้งที่มันเสียก่อนที่จะถึงอายุขัย และเจ้าของรถก็ต้องเปลี่ยนทั้งชุด แม้ว่ามีแบตเสียเพียงหนึ่งหรือสองก้อน ทางพอร์ชจึงได้ตั้งศูนย์ซ่อมแบตเตอรี่ขึ้น โดยช่างจะทำการถอดน็อตประมาณ 160 ตัวออกแล้วจะเห็นแบตเตอรี่แพ็ค ช่างจะใช้มีดที่เหมือนมีดผ่าตัดของแพทย์ที่มีความคมสูงแกะแพ็คดังกล่าวออกมา แล้วมองหาชิ้นที่เสีย ก่อนที่จะเปลี่ยนมัน แล้วห่อกลับเหมือนเดิม เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งทางพอร์ชมองว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 80% เลยเมื่อเทียบกับต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด

ปัจจุบันทางพอร์ชได้ทำการฝึกสอนช่างเทคนิค โดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือช่างซ่อมเล็ก ๆ ทั่วไป ช่างเชี่ยวชาญที่สามารถถอดแบตเตอรี่ออกจากตัวรถ และชั้นสูงสุดคือช่างซ่อมแบตเตอรี่ที่สามารถถอดสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ โดยช่างในระดับ 3 นี้ต้องได้รับการฝีกอย่างดีจากบริษัท และบางครั้งบริษัทเองอาจส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยอีกด้วย เสมือนหนึ่ง ให้หมอบินมาช่วยหรือ flying doctor เลยทีเดียว เพราะว่าไฟฟ้าที่แรงดัน 800 โวลท์นั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ที่จะเล่าคือ ต่อไปช่างซ่อมรถยนต์ก็จะถูก disrupted ด้วย เพราะว่าความเชี่ยวชาญในการซ่อมรถ EV คือคนที่มีความรู้ด้านไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ เพราะอย่างที่เราทราบกันคือรถ EV มีชิ้นส่วนเพียง 20 กว่าชิ้น เมื่อเทียบกับรถน้ำมันที่มีชิ้นส่วนกว่า 20,000 ชิ้น การซ่อมบำรุงก็จะง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงของ Taycan นั้นถูกกว่ารถน้ำมันถึง 30% ทีเดียว

ต่อไปช่างยนต์ที่เรารู้จัก ก็จะไม่ใช่ช่างยนต์ที่มือเปื้อนน้ำมันหรือวาสลิน และการเปลี่ยนไส้กรองหรือน้ำมันเครื่องก็จะไม่มีต่อไป และในหลาย ๆ ประเทศรัฐบาลเริ่มที่จะเพิ่มวิชาช่างไฟฟ้า แบตเตอรี่เข้าไปในหลักสูตรของช่างเทคนิค ปวส. เพื่อเป็นการเตรียมรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอีกด้านหนึ่งครับ