EN

24 กุมภาพันธ์ 2566

“กาแฟดริปเทพเสด็จ”

ต้นแบบความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน
PPPP - Public Private Partnership for People

พื้นที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็น ตั้งอยู่ในเขตโครงการหลวงป่าเมี่ยง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพื้นที่เมื่อปี 2523 และมีพระราชดำรัสให้จัดตั้งโครงการหลวงและพระราชทานทุนทรัพย์ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกกาแฟ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ทำอาชีพปลูกสวนเมี่ยง ซึ่งมีราคาตกต่ำในขณะนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้า วันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบความร่วมมือโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน (PPPP - Public Private Partnership for People) หลังจากที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ได้รับข้อเสนอคำขอโครงการจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้ Japan International Cooperation Agency (JICA) นำความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่นมาพัฒนาศักยภาพด้านกาแฟของไทย ระหว่างมิถุนายน 2562 - พฤษภาคม 2565

อุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ภาระหน้าที่ของกรมฯ คือบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม วิชาการ รวมถึงส่งเสริมการวิจัย การเผยแพร่ และการฝึกอบรม โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการของประเทศต่างๆ หรือองค์กรต่างประเทศ โดยหนึ่งในโครงการที่กรมฯ ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมพัฒนากับ JICA คือผลิตภัณฑ์กาแฟเทพเสด็จ ที่ดอยสะเก็ด ซึ่งจากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด เมื่อต้นปี 2565 ต่อยอดไปสู่ความร่วมมือเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับชุมชน ในโครงการพัฒนากาแฟเทพเสด็จสู่ร้านกาแฟอินทนิล

“หลังจากที่ได้ไปดูพื้นที่ปลูกกาแฟในวันนั้น ได้คุยกับผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรฯ (ซึ่งเป็นผู้บริหารปั๊มบางจากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา หรือหนึ่งในปั๊มชุมชนกว่า 600 ปั๊มทั่วประเทศ ที่ใช้พื้นที่ของสหกรณ์ฯ เป็นที่ตั้งปั๊มจำหน่ายน้ำมันให้แก่สมาชิกในราคาพิเศษ และกำไรจากการดำเนินงานจะถูกนำไปปันผลสู่สมาชิกสหกรณ์ฯ ด้วย) เขาบอกว่าอยากจะนำผลิตภัณฑ์กาแฟของชุมชนดอยสะเก็ดไปจำหน่ายในร้านอินทนิล ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ เกษตรกรจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องราวความพิเศษที่แตกต่างของกาแฟเทพเสด็จ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม”

กรมฯ จึงได้ขยายผลโครงการและต่อยอดสู่ความร่วมมือกับภาคเอกชนด้วยการประสานงานกับกลุ่มบริษัทบางจาก ซึ่งผู้บริหารและทีมงานของบริษัท บางจาก รีเทลจำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านกาแฟอินทนิล ก็ได้ให้ความสนใจและเดินทางไปที่ดอยสะเก็ดเพื่อหารือกับผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรฯ เกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาด จนออกมาเป็น “กาแฟดริป เทพเสด็จ Single Origin ตราอินทนิล” ซึ่งมีที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว โดดเด่นด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นหนึ่งในกาแฟดริป 3 รส 3 รูปแบบ “เทพเสด็จ” “ป่าแป๋” และ “แม่แจ๋ม” เริ่มวางจำหน่าย ณ ร้านกาแฟอินทนิล ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

“ความสำเร็จนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างของการตั้งมั่นทำงานร่วมกัน คุ้มค่าแก่การรอคอย คุ้มใจของเกษตรกรดอยสะเก็ดที่ได้เห็นผลผลิตของตนได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับนี้ และคุ้มแรงกายแรงใจของหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งไทยและญี่ปุ่น และทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้ร่วมทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เป็นรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ในโครงการอื่น ๆ ได้ จึงอยากจะเห็นโมเดลนี้ขยายต่อไปยังผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่น ๆ กับภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป” อุรีรัชต์กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ฉบับเต็ม)

“กาแฟเทพเสด็จ” เป็นหนึ่งในความสำเร็จของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ภายในการดำเนินงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผลจากที่นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Thailand International Cooperation Agency : TICA กระทรวงการต่างประเทศไปตรวจเยี่ยมโครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอาราบิก้า) The Project on Post-Harvest Management and Community-Based Development for Local Products (Arabica Coffee Project) ที่สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2565 ซึ่งการเดินทางไปราชการครั้งนั้น ทำให้ กาแฟเทพเสด็จ ได้พัฒนามาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แบรนด์ “กาแฟดริปเทพเสด็จ ตรา อินทนิล” ที่จัดจำหน่ายโดย บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566

จุดริเริ่มที่ TICA ดึง JICA เข้ามาช่วยชาวบ้านเทพเสด็จพัฒนาการผลิตกาแฟเทพเสด็จ

TICA เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ และการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและความใกล้ชิดระหว่างกัน ภารกิจหลักของ TICA มี 2 ประการ คือ การเชื่อมโลกสู่ไทย โดยร่วมมือกับต่างประเทศ และองค์กรต่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาภายในประเทศไทยซึ่งรวมถึงการนำความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้และพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานไทยโดยเฉพาะการสนับสนุนวาระแห่งชาติในการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ประการที่สอง คือ การเชื่อมไทยสู่โลก ซึ่งรวมถึงการขยายบทบาทประเทศไทยในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา คือ ร่วมมือกับประเทศที่พัฒนาแล้วไปให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค

สำหรับ “โครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอาราบิก้า)” เป็นรูปแบบหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทย - ญี่ปุ่น ในกรอบทวิภาคีในรูปของโครงการ หรือ Technical Cooperation Project : TCP โดยโครงการดังกล่าวมีการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานภายใต้โครงการ มีการกำหนดพื้นที่พัฒนาและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดทำแผนงานโครงการที่วางแผนไว้อย่างเป็นระบบที่กำหนดผลลัพธ์ที่ต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรม

โครงการนี้ เริ่มจาก TICA ได้รับข้อเสนอคำขอโครงการนี้จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Japan International Cooperation Agency : JICA เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุน โดยในช่วงแรกเป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญ มาศึกษาพื้นที่ก่อน หรือเรียกความร่วมมือรูปแบบนี้ว่า การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญนอกโครงการ (Individual Request : IR) ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2558 จากนั้น ด้วยความสำเร็จและเล็งเห็นศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เข้าสู่ท้องตลาดได้ จึงได้ได้ต่อยอดไปสู่ความร่วมมือลักษณะโครงการ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาธุรกิจกาแฟที่ยั่งยืนผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร และวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อพัฒนา value chain ของ “Doi Saket Coffee Green” ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและพัฒนาการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์

ระยะเวลาโครงการ

โครงการเริ่มต้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 - พฤษภาคม 2565 โดย JICA ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานที่สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด เพื่อดำเนินงาน 5 ภารกิจ คือ (1) พัฒนาการปลูกกาแฟและการบริหารจัดการฟาร์มกาแฟ (2) พัฒนาการกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ (3) พัฒนาการส่งเสริมการขายและการตลาด (4) พัฒนาการบริหารจัดการสหกรณ์ และ (5) เสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกับสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดในการบริหารจัดการ value chain ของ Doi Saket Coffee Green ซึ่งกระบวนการในการทำงานจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพบุคลากรและสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟอาราบิกา และสามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชน องค์กรท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ต่อไป

TICA ขยายผล และต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบ PPPP (Public Private Partnership for People)

เมื่อเดือนมกราคม 2565 ได้เยี่ยมชมพื้นที่แปลงปลูกกาแฟ ณ บ้านปางบง ต. เทพเสด็จ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ และดูกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งได้รับการยกระดับมาตรฐานผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ของญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากการเก็บเมล็ดกาแฟที่สุกได้ระดับสีที่ต้องการโดยใช้สายรัดข้อมือ (wristband) เพื่อใช้สังเกตสีของเมล็ด ทำให้สามารถเก็บเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ หลังจากนั้น จะนำเมล็ดที่ได้ไปแช่น้ำเพื่อคัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์เพื่อนำไปขัดสีและล้างเมือก จากนั้น จะแช่เมล็ดเพื่อคัดแยกเมล็ดในขั้นสุดท้ายก่อนนำไปตากแห้งเพื่อรอการคั่ว ในขั้นตอนการผลิตใช้แรงคนแทนการใช้เครื่องจักร จึงทำให้มีความเฉพาะตัวของกลิ่นกาแฟ และรสชาติดั้งเดิมที่คงที่ นอกจากนี้ ได้พบกับ Mr. Masahiro Okada ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ซึ่ง JICA ได้ส่งมาปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟ และได้เข้าพบหารือ กับเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด โดยมีนายสุริยะ คำปอง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่และนายศรีนวล ไทยตัน กรรมการสหกรณ์ บรรยายสรุปผลการดำเนินงานของสหกรณ์

“หลังจากได้ไปดูพื้นที่ปลูกกาแฟแล้ว ก็ได้สอบถามว่า สหกรณ์ฯ ตั้งอยู่ในบริเวณปั้มน้ำมันของบางจาก ซึ่งมีการจำหน่ายกาแฟด้วย น่าจะนำผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์เข้าไปขายในสถานีน้ำมันบางจากจะได้เป็นการช่องทางในการจำหน่ายที่ดีอีกหนึ่งช่องทาง เกษตรกรมีความสนใจแต่ไม่สามารถหาช่องทางในการติดต่อกับ บริษัทบางจาก ได้ จึงได้คิดไปถึงแนวทางให้โครงการนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์กาแฟของชุมชนดอยสะเก็ด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องราว (Story - telling) กระบวนการและขั้นตอนการผลิตเมล็ดกาแฟ และผลิตภัณฑ์กาแฟจะเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ภายหลังจึงได้หาทางประสานไปยังบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาลู่ทางในการนำผลิตภัณฑ์กาแฟของชุมชนดอยสะเก็ดไปจำหน่ายในร้านกาแฟในเครือบางจาก ซึ่งจะเป็นการให้ภายเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยการขยายฐานการตลาดให้แก่ชุมชนดอยสะเก็ด จึงกลายเป็นที่มาของ กาแฟดริป เทพเสด็จ ตราอินทนิล” ที่วางจำหน่าย ณ ร้านกาแฟอินทนิล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566” เป็นต้นมา อธิบดีอุรีรัชต์ฯ เล่าให้เราฟังถึงเส้นทางกาแฟของเกษตรกรในโครงการความร่วมมือระหว่าง TICA และ JICA ที่ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล คือ PPPP

จุดแข็ง / Uniqueness ของกาแฟเทพเสด็จ และชาวบ้านในสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา

จุดแข็งของ กาแฟเทพเสด็จ คือ ชื่อพันธุ์ “เทพเสด็จ” ชื่อนี้มีที่มา “กาแฟเทพเสด็จ” เกิดขึ้นมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการหลวงป่าเมี่ยง ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จมาติดตามงาน 2 ครั้ง ชาวบ้านที่นั่นจึงเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ขอพระราชทานนามชื่อว่า ตำบลเทพเสด็จ และเป็นที่มาของ “กาแฟเทพเสด็จ” อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จนปัจจุบัน

นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกกาแฟปลูกบนพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 900-1,500 เมตร อากาศเย็นตลอดทั้งปี ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาพันธุ์กาแฟอาราบิก้า นอกจากนี้ เอกลักษณ์ของพื้นที่นี้ คือ เป็นการปลูกกาแฟแซมในพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมีดอกไม้ป่าท้องถิ่น ชื่อ ดอกก่อ ขึ้นอยู่ในป่าและออกดอกในช่วงเวลาเดียวกันกับการออกดอกของกาแฟ ประกอบกับมีผึ้งโก๋น หรือผึ้งโพรงเป็นสัตว์ประจำถิ่นอาศัยอยู่ ผึ้งไปตอมเกสรของดอกก่อ เมื่อมาเกาะกับดอกกาแฟ ทำให้เกิดเมล็ดกาแฟที่มีกลิ่นหอมดอกไม้ป่าและน้ำผึ้งขึ้นมาเป็น tone ที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ เป็นกาแฟแห่งการอนุรักษ์คู่ป่า เพราะดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งก่อเกิดอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรด้วย

ความช่วยเหลือจากความร่วมมือ TICA - JICA ครอบคลุมกระบวนการใดบ้าง

โครงการนี้ครอบคลุมการพัฒนาผลผลิตให้มีมาตรฐานและได้คุณภาพ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อระบบสหกรณ์ ตั้งแต่การปรับปรุงแปลงกาแฟให้มีความเหมาะสม การกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช โดยให้วิธีธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาของป่า วิธีและช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวให้ได้เม็ดกาแฟที่สุกพอเหมาะ การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน ทั้งการคัดเลือกเมล็ด การล้างเมือก การหมักตาก จนถึงการพัฒนาหีบห่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้งหมดได้ช่วยให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการผลิตเมล็ดกาแฟ ซึ่งมีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่โดดเด่นอยู่เป็นทุนเดิม ให้ได้คุณภาพ พร้อมที่จะนำเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้ทัดเทียมกับกาแฟคุณภาพดีจากที่ต่าง ๆ ได้ TICA ในฐานะผู้ประสานหลักของไทยกับ JICA ได้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่โครงการ ผู้เชี่ยวชาญโครงการ รวมถึงเป็นกรรมการในคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์

บทบาทของ TICA ในการทำงานร่วมกับ JICA ในแต่ละโครงการ หรือเฉพาะโครงการนี้มีประเด็นใดบ้าง

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการร่วมมือกับรัฐบาลของต่างประเทศด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งในบริบทของความร่วมมือกับญี่ปุ่น ได้เป็นผู้ประสานงานหลักของหน่วยราชการไทยต่าง ๆ ที่ประสงค์จะมีความร่วมมือด้านการพัฒนาและทางวิชาการกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของญี่ปุ่น คือ JICA การดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่าง TICA กับ JICA มีกลไลขับเคลื่อนที่ชัดเจนเป็นแบบแผน โดยจะจัดการประชุมหารือเป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อร่วมกันกำหนดสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน รวมถึงให้ข้อมูลและเชิญหน่วยงานไทยต่าง ๆ ที่สนใจอยากจะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น ส่งข้อเสนอโครงการมาที่ TICA เพื่อรวบรวมส่งให้ JICA และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อรัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณา ต่อมาเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งผลการพิจารณาแล้ว JICA จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานที่ไทยเพื่อมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่วน TICA จะประสานงานและช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ตามพันธกิจ เช่น การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นที่มาปฎิบัติงานภายใต้โครงการที่ไทย รวมถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นตามที่ระเบียบราชการกำหนด นอกจากนี้ ในทุกโครงการจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการ โดยมีองค์ประกอบเป็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (TICA JICA และหน่วยงานไทยที่รับความช่วยเหลือ) เป็นกลไกขับเคลื่อนโครงการเพื่อกำกับและตรวจสอบให้มีการดำเนินการได้ตามแผนงาน

สำหรับโครงการพัฒนากาแฟที่ดอยสะเก็ดนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี สิ้นสุดไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ภายหลังที่โครงการจบลง TICA เห็นว่า ชุมชนได้พัฒนาเมล็ดกาแฟเทพเสด็จจนได้คุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นเมล็ดกาแฟที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว จึงต้องการหาลู่ทางที่จะช่วยต่อยอดและสร้างความยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน TICA จึงได้ช่วยประสานงานให้บางจากฯ ซึ่งมีร้านกาแฟอินทนิลอยู่ในเครือ ในการติดต่อกับสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟเทพเสด็จไปจำหน่ายในร้านกาแฟอินทนิล

สิ่งที่ท่านมองว่า ชาวบ้านได้รับประโยชน์สูงสุดจากการที่ JICA เข้าไป

ชุมชนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนและกระบวนการผลิตกาแฟที่ได้มาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ ผลการดำเนินการต่อยอดในการช่วยหาแหล่งผู้ซื้อ ลักษณะการจับคู่ธุรกิจระหว่างสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนากับร้านกาแฟอินทนิล ภายหลังจากโครงการเสร็จสิ้น ยังช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีแหล่งรายได้ที่มั่นคง ซึ่งเมล็ดกาแฟที่จำหน่ายในร้านอินทนิล จะระบุชัดเจนว่า เป็นกาแฟเทพเสด็จ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจและการส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดแรงบันดาลใจในการรักษาคุณภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมถึงสร้างความเข้มแข็งแก่การดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์อีกด้วย

นอกจากนี้ ความร่วมมือในโครงการทำให้คนในชุมชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ได้ไปดูงานในต่างประเทศ จากแผนงานโครงการมีกิจกรรมที่ JICA เชิญผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้แทนสหกรณ์รวม 9 คน ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 4 คน ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จำนวน 3 คน ผู้นำเกษตรกร จำนวน 1 คน และสมาชิกสหกรณ์จำนวน 1 คน เข้าศึกษาดูงานอุตสาหกรรมกาแฟและระบบสหกรณ์ในประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2563

TICA มีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรในลักษณะเดียวกับ กาแฟเทพเสด็จ ที่ไหนอีกหรือไม่

TICA ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีเครือข่ายการทำงานกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของนานาประเทศ และเป็นผู้ประสานงานหลักของการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย ในการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาจากประเทศต่าง ๆ ในหลากหลายสาขาแก่หน่วยงานภาครัฐ พร้อมที่จะช่วยต่อยอดความสำเร็จภายหลังโครงการพัฒนาเสร็จสิ้น เพราะมุ่งหวังที่จะสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายหลังโครงการเสร็จสิ้น โครงการพัฒนากาแฟเทพเสด็จ เป็นตัวอย่างที่ดียิ่งในการแสวงหาแนวทางความยั่งยืนในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น TICA เห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอัตลักษณ์ชุมชนที่หลากหลายและโดดเด่นตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว หากได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานแล้ว ก็จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมจะเข้าสู่ตลาด ในจุดนี้ TICA ได้ช่วยประสานงานให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้พร้อมแข่งขันในตลาดได้ และเมี่อโครงการแล้วเสร็จ ยังมีลู่ทางต่อยอดต่อไปได้อีกในแง่การตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนและรายได้ที่มั่นคงแก่ชุมชนของไทย TICA ก็ยินดีที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุน เช่นในกรณีของผลิตภัณฑ์กาแฟเทพเสด็จนี้

นอกจากนี้ ยังความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบโครงการอื่น ๆ ที่ TICA ร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ที่เป็นความร่วมมือกับ GIZ ของเยอรมนี หรือโครงการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชนโดยใช้แนวทางจัดนิทรรศการแบบกระจายที่ผู้เข้าร่วมสามารถลงมือปฏิบัติได้ (D-HOPE) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ JICA ที่ส่งเสริมให้พื้นที่เป้าหมายของโครงการมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ มีศักยภาพและลู่ทางที่จะต่อยอดกับภาคเอกชนของไทย หรืออาจจะดำเนินงานโครงการในลักษณะ PPPP ในลักษณะเดียวกับโครงการกาแฟเทพเสด็จ นี้ได้ในอนาคต ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่าง TICA กับคู่ร่วมมือและพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่างประเทศ เอ็นจีโอ ตลอดจนประเทศพันธมิตรนั้น เป็นความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนและเติมเต็มการพัฒนาจากจุดเริ่มต้นไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้นจนสามารถเติมเต็มการพัฒนาให้สมบูรณ์และยั่งยืนได้ในที่สุด...ซึ่งสะท้อนได้เห็นอย่างชัดเจนใน Logo ของ TICA ที่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ TICA เป็นส่วนเติมเต็มของการพัฒนา และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน