EN

07 เมษายน 2566

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับเส้นทางต้นแบบด้านพลังงานสะอาด

“Sustainable Living ถือเป็นแกนหลัก ของมช. เราสื่อสารและปลูกฝังในเรื่องทัศนคติด้านความยั่งยืน นับตั้งแต่รับนักศึกษาเข้ามา จนเรียนจบไป สังคมต้องการคนที่มีทัศนคติด้านนี้ซึ่งจะช่วยสร้างผลต่อในสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในฐานะสถานศึกษาชั้นนำ”

“เราตั้งเป้าหมายว่า ในปีค.ศ. 2035 มช. จะต้องเป็น Carbon Neutral (เป็นกลางทางคาร์บอน) ให้ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและผู้แทนพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แสดงความมุ่งมั่นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบอัจฉริยะหรือ Smart University พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบแก่เมืองอื่น ๆ โดยมี บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หนึ่งในกลุ่มบริษัทบางจาก เป็นผู้ให้บริการจัดการด้านการใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่ทั้งหมด

“เริ่มจาก 6 ปีที่แล้ว หลังจาก มช. ชนะการประกวดโครงการ Smart City - Clean Energy ของกระทรวงพลังงาน จากแผนแม่บทพลังงานและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ที่จินตนาการถึงการใช้ชีวิตของคนในเมืองในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ว่าควรเป็นอย่างไร ทั้งในภาคพลังงาน สาธารณูปโภค บริการทางสุขภาพ อาหาร ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน และนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาทำให้คนในเมืองมีชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Living) และเมื่อแผนแม่บทนี้ชนะการประกวด จึงได้เดินหน้าทันที”

สู่เป้าหมาย Carbon Neutral ในปี 2035

“เริ่มจากการทบทวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปี ซึ่ง มช. ปล่อยคาร์บอนฯ กว่า 6 หมื่นตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า ในฐานะหน่วยงานการศึกษาที่ต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้ จึงตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนให้ได้ 70% ภายในปี 2030 และมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2035 โดยเป้าหมายที่ท้าทายนี้ถูกนำเข้าไปรวมกับแผนแม่บทแล้ว”

เขาเล่าต่อว่า จากนั้น จึงจัดประมูลผู้ร่วมพัฒนาบริหารจัดการพลังงานสะอาด และได้บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด มาดำเนินการความร่วมมือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดย มช.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากบีซีพีจี ซึ่งเป็นผู้ลงทุน พัฒนา ติดตั้ง และบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้งรวม 15 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสัญญา 20 ปี ซึ่งจนถึงวันนี้ ได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคารที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปแล้ว 240 อาคาร และจะติดตั้งต่อเนื่องจนครบ 280 อาคารหรือครบ 15 เมกะวัตต์ตามแผนงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและผู้แทนพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

เทคโนโลยีหนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.พฤกษ์ เล่าต่อว่า บีซีพีจี ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาบริหารจัดการพลังงานสะอาด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถรายงานผลได้ทันที (real time) ว่าจุดไหนผลิตได้เท่าไหร่และส่งไปที่ไหนบ้าง ช่วยให้เห็นตัวเลขการใช้พลังงาน บริหารจัดการงบประมาณและการประหยัดพลังงานของแต่ละอาคารได้สะดวก นอกจากนี้ ยังมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อไม่ให้มีพลังงานส่วนเกินหรือเหลือใช้ ไม่สูญเปล่า ช่วยให้ในแต่ละอาคารสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้ทั้งหมด

อาคารที่ผลิตได้น้อยไม่พอใช้สามารถดึงพลังงานสะอาดจากอาคารอื่นที่ผลิตเกินมาใช้ได้ เปรียบเสมือนภาพจำลองของเมือง ที่บ้านใดใช้พลังงานน้อยแต่ผลิตได้มากควรจะได้ส่วนลด บ้านใดใช้พลังงานมากต้องจ่ายเพิ่ม เป็นต้น

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้ดำเนินการและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ พลังงานลม และก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

นอกจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชนิดต่างๆ แล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน