EN

15 ตุลาคม 2564

เมื่องานออกแบบเป็นมากกว่าการออกแบบ

ประสบการณ์ดีไซน์ความสุข ส่งต่อ Greenovative Experience ให้ลูกค้า

“ปั๊มลอยฟ้า” ปั๊มน้ำมันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีหัวจ่ายน้ำมันด้านบน
อีกหนึ่งผลงานออกแบบเพื่อรับมือกับข้อจำกัดด้านพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ใช้บริการ

“ผมเป็นสถาปนิกคนหนึ่งที่ดูแลการออกแบบปั๊มบางจาก ทำงานกับบางจากฯ มามากกว่า 13 ปีแล้ว แต่งานออกแบบที่นี่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่มีจังหวะที่รู้สึกเบื่อ เพราะปั๊มของเรามีการปรับแต่งสถาปัตยกรรมภายนอกให้ดูทันสมัยตามแนวคิด สี และแบรนด์ที่ปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงมีภารกิจออกแบบปั๊มให้ตอบโจทย์กับความท้าทายในทำเลต่าง ๆ และตอบสนองแนวคิดใหม่ ๆ อย่างปั๊ม Unique Design ที่ทำให้แต่ละสาขามีเอกลักษณ์เฉพาะผสมผสานกับ Brand Identity ของแบรนด์บางจากฯ อย่างลงตัว เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษและเสริมสร้างการจดจำให้กับลูกค้าด้วย”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนากับหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบสถานีบริการน้ำมันบางจาก ต้น - สุเมธ อังศุกรานต์ สถาปนิกอาวุโส ส่วนออกแบบสถาปัตยกรรมการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ที่แม้จะมีประสบการณ์ยาวนาน ผ่านโครงการต่าง ๆ มากมาย แต่การบอกเล่าเรื่องราวของเขา ยังเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ

เป็นมากกว่า ‘ปั๊มน้ำมันสีเขียว’

ที่ ‘บ้านบางจาก’ การทำงานในบทบาทสถาปนิกเป็นมากกว่าการออกแบบสิ่งปลูกสร้างเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของพื้นที่ แต่เป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) และสร้างประสบการณ์ที่ดีเพื่อส่งมอบคุณค่าของพื้นที่สถานีบริการให้แก่ลูกค้า ภายใต้แนวคิด “Greenovative Experience” ซึ่งการตีความและถ่ายทอดแนวคิดให้ออกมาเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม นั้นเป็นทั้งความท้าทายและความสนุกที่รวมอยู่ด้วยกัน

“เราต้องถอดองค์ประกอบต่าง ๆ ในงานและหาทางสื่อออกไปในรูปแบบที่คนจะเข้าถึง ใส่ใจในประเด็นรักษ์โลกตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก่อสร้าง ทั้งในจุดที่อาจไม่ทันสังเกต เช่น การวางผังและกระบวนการคัดสรรวัสดุที่ละเอียด การใช้แสงธรรมชาติในการออกแบบอาคาร การดูทิศทางลม การใช้พลังงานสะอาด และจุด Touch Point ที่พอจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่เข้าถึงได้ให้กับลูกค้า เช่น การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว ใช้วัสดุประหยัดพลังงานหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง การวางระบบน้ำทิ้งเพื่อมารดน้ำต้นไม้แม้แต่น้ำล้างมือจากการเติมลมยาง เราก็ดีไซน์ให้ไหลที่กระบะปลูกต้นไม้ เป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ค่อย ๆ สั่งสมเป็นประสบการณ์สีเขียวไปให้ลูกค้าสัมผัสได้ไปเรื่อย ๆ”

"เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ค่อย ๆ สั่งสมเป็นประสบการณ์สีเขียวไปให้ลูกค้าสัมผัสได้เรื่อย ๆ"

สถานีบริการน้ำมันบางจาก ยังเข้าร่วมประเมินตามข้อกำหนดและมาตรฐานสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.) จนได้รับการรับรองในฐานะสถานีบริการต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม หรือ Inno-Green Station ในปี 2561-2563 จากงานพัฒนา ออกแบบ และก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันให้มีภาพลักษณ์ทันสมัย มีการบริหารจัดการด้านพลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมนำนวัตกรรมด้านการออกแบบและเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ให้เกิดการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานในสถานีบริการ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ปั๊มจานบิน” ชื่อผู้คนใช้เรียก ปั๊มบางจาก สาขาศรีนครินทร์ จากรูปทรงที่ออกแบบโดยติดตั้งฝ้ากระจก ดูโปร่ง ทันสมัย และช่วยเพิ่มความสว่างภายในบริเวณ มีการออกแบบด้านบนหลังคาบริเวณที่จ่ายน้ำมันและกลุ่มร้านค้าเป็นรูปทรงใบไม้ที่เคลื่อนไหว พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อกักเก็บพลังงานสะอาดไว้ใช้ภายในปั๊มแห่งนี้

เป็นมากกว่า ‘งานออกแบบสถาปัตยกรรม’

จากประสบการณ์การดูแลงานออกแบบสถานีบริการไม่ต่ำกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ต่อคำถามที่ว่าประทับใจเรื่องราวของปั๊มทำเลใดมากที่สุด สุเมธ บอกกับเราว่าทุกที่ล้วนน่าประทับใจในแบบของตัวเอง ทุกปั๊มที่สร้างมีความสนุก ไม่ว่าจะเป็นปั๊มขนาดทั่วไป หรือ ปั๊มขนาดใหญ่ ปั๊มของบางจากเอง หรือ ปั๊มที่ดูแลให้เจ้าของกิจการสถานีบริการ จากการได้พูดคุยเชื่อมโยงหลายฝ่ายทั้งลูกค้าเจ้าของสถานีบริการ พันธมิตรผู้ให้บริการภายในพื้นที่ ชุมชน และผู้สัญจรเข้าไว้ด้วยกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังมานี้ บางจากฯ เปิดกว้างให้ผู้สนใจเป็นเจ้าของกิจการมีอิสระในการออกแบบอาคารพื้นที่ค้าปลีก สามารถสอดแทรกบุคลิกของตัวเอง ของพื้นถิ่น หรือ เสน่ห์ของชุมชนเข้าไป โดยบริษัทฯ คอยดูแลเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นบางจากให้ยังอยู่ครบและกลมกลืน ทุกไซต์จึงยิ่งมีความสนุกที่แตกต่างกันออกไป

“เราไม่ได้ออกแบบให้เป็นแค่เพียงปั๊มน้ำมัน แต่เป็นพื้นที่สำหรับประสบการณ์ที่เราพยายามดีไซน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีองค์ประกอบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเข้ามาเติมน้ำมัน มาซื้อกาแฟ มาทำธุรกิจ หรือ ซื้อของจับจ่าย ก็จะมีพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่พักสายตาและหย่อนใจ เช่น ปั๊มแห่งใหม่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เราเลือกเอา ผ้าซิ่นตีนแดง ของดีประจำจังหวัดบุรีรัมย์ มาออกแบบเป็นลวดลายสีสันของหน้ากากตัวอาคาร นำเสนอเหมือนผืนผ้าซิ่นตีนแดงพลิ้วไสวอยู่หน้าอาคาร รวมไปถึงลวดลายในบริเวณร้านกาแฟอินทนิล ห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งบริการคาร์แคร์”

เราไม่ได้ออกแบบให้เป็นแค่ปั๊มน้ำมัน
แต่เป็นพื้นที่สำหรับประสบการณ์ที่
ดีไซน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
องค์ประกอบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในชุมชนนั้น
ปั๊มบางจากหุบกระพง จ.เพชรบุรี อีกหนึ่งสถานีบริการที่มีความเป็นเอกลักษณ์เสน่ห์ของชุมชนนั้น ๆ
อาหารห้องน้ำภายในปั๊มบางจาก จ.บุรีรัมย์ ที่มีแรงบันดาลใจมาจากลวดลาย ‘ผ้าซิ่นตีนแดง’

เป็นมากกว่า ‘เพื่อนร่วมงาน’

ไม่เพียงแต่เนื้องานที่ท้าทาย ไม่จำเจ เพราะการทำงานที่ ‘บ้านบางจาก’ แห่งนี้ ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่ในแปลนเขียนแบบ สุเมธ กล่าวพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้าว่า แต่ที่สำคัญกว่าคือบรรยากาศในการทำงาน ซึ่งเราอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ซึ่งหมายความแบบนั้นจริง ๆ ไม่ได้พูดให้ดูสวยหรู เราคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง มีความใกล้ชิดสูง แชร์สิ่งต่าง ๆ ร่วมกันได้ พิสูจน์ด้วยระยะเวลามากกว่า 13 ปีที่อยู่ภายใต้ร่มเงาบ้านบางจากมา จนเรื่องราวต่าง ๆ ของบางจากฯ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว “ทำงานมามากกว่า 10 ปี ทุกวันนี้ก็ยังสนุกอยู่ครับ” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ สุเมธ ก่อนจะขอตัวไปทำงานที่เขารักต่อ