EN

29 เมษายน 2565

กลุ่มบางจากฯ กับเส้นทาง Blue Carbon ในทะเลตะวันออก

ต่อยอดสู่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในพื้นที่เกาะหมากร่วมขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

เมื่อโลกร้อนรุนแรงมากขึ้นจนเราได้เห็นความแปรปรวนของสภาพอากาศในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ความหนาวในเดือนเมษายนที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นจังหวะดีที่มีโอกาสชวนมาคุยกับ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเลระดับแนวหน้าของประเทศไทย

ดร. ธรณ์ ธำรงราวาสวัสดิ์

ดร. ธรณ์ กล่าวว่า การกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ถูกกล่าวถึงทั่วโลกภายหลังการประชุม COP26 ในปีที่แล้ว เพราะหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกหลายเท่าตัว ข้อมูลของ IUCN เมื่อปีที่แล้ว บอกว่า สามารถดูดซับกักเก็บมากกว่าป่าบนบก 7-10 เท่า (IUCN, 2021) ประเทศไทยเราเอง ก็มีการให้ความสนใจเรื่องหญ้าทะเลอย่างจริงจัง โดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบางจากฯ ศึกษาความสามารถในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังผืนใหญ่ของภาคตะวันออกในบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด ในปี 2565 นี้

“วิธีช่วยโลกร้อนจริง ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลดคาร์บอน กับ กักเก็บคาร์บอน ลดคาร์บอนก็มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่ทำได้ ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานสะอาด แยกขยะ ฯลฯ แต่การกักเก็บคาร์บอนเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งนอกจากจะมี Blue Carbon เป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องจับตาแล้ว ยังต้องอาศัยการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้”

Blue Carbon เมืองไทย ทำไมต้องเป็นเกาะหมาก

“เกาะหมากเป็นเกาะที่ใหญ่พอสมควร มีแนวปะการังใหญ่สุดของภาคตะวันออก มีหญ้าทะเลตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 7-8 แหล่งตามรายงานในอดีต โดยเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม คือ มีหญ้าในทะเลในแนวปะการังอยู่เดิมแต่เผชิญภัยพิบัติชั่วครั้งชั่วคราวและเสียหายไป โดยหญ้าทะเลในบริเวณเกาะมากส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ชะเงาใบเลื่อย ซึ่งเป็นชนิดที่มีใบขนาดใหญ่และโตเร็ว ซึ่งยิ่งหญ้ามีใบขนาดใหญ่ยิ่งดีต่อการกักเก็บคาร์บอน” ดร. ธรณ์กล่าว

ทีมสำรวจพบกรอบพื้นที่เป้าหมายสำหรับการฟื้นฟู 2 จุด คือ บริเวณอ่าวกระเบื้อง เกาะหมาก 10 ไร่ และฝั่งตะวันตกของเกาะกระดาด 12.3 ไร่ ซึ่งเดิมมีแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังขนาดใหญ่ แต่ได้รับผลกระทบจากลมที่รุนแรงผิดปกติในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้หญ้าทะเลในพื้นที่เสื่อมโทรม ลดน้อยลง แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่การฟื้นฟูตามธรรมชาติให้กลับมาอีกครั้งนั้นใช้เวลานาน มนุษย์สามารถเข้าไปช่วยเหลือ ปลูกหญ้าทะเล ให้การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังกลับมาสมบูรณ์เร็วขึ้นได้

“การดูดซับและกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไม่ได้กักเก็บอยู่ในใบของหญ้าทะเล แต่กว่า 90% จะอยู่ในดิน ดังนั้น โจทย์ต่อไปคือการสำรวจชั้นดิน ณ ความลึกแต่ละชั้นดูว่าเดิมทีมีคาร์บอนกักเก็บในพื้นที่กี่กรัม เพื่อเป็นข้อมูลตั้งต้นไว้ชี้วัดการกักเก็บคาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังการฟื้นฟูและนำชั้นดินเหล่านั้นไปทำการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยต้องอาศัยการนำเอาท่อเจาะลงไปสำรวจในดินอย่างน้อย 1 เมตร หรือ ลึกกว่านั้น ซึ่งทีมสำรวจกำลังรอทำการเจาะสำรวจในช่วงเวลาที่น้ำลงที่สุดของปีในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน”

ดร.ธรณ์ กล่าวเสริมว่า ตัวอย่างดินจะได้รับการวิจัยจากทั้งห้องวิจัยของในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และใช้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผลจากการดำเนินโครงการศึกษาการใช้คาร์บอนเครดิตจากแหล่งหญ้าทะเลในครั้งนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และกลายเป็นข้อมูลตั้งต้นชิ้นสำคัญสำหรับประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศด้วยการกักเก็บ Blue Carbon ในระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในอนาคต

ตัวแทนเยาวชนและวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมากกล่าวแนะนำพื้นที่

วิถีคาร์บอนต่ำบนเกาะหมาก ความลงตัวเพื่อขับเคลื่อน Low Carbon Destination

“เกาะหมากเป็นจุดแรกของประเทศที่มีการนำคำว่า Low Carbon Destination (แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ) มาใช้ ไม่มีที่ไหนในเมืองไทยที่ผมคิดว่าเหมาะสมที่จะเป็น Net Zero หรือ Carbon Negative ในอนาคตเท่ากับเกาะหมาก ด้วยหลายปัจจัยที่ชี้วัด จำนวนคนบนเกาะที่มีไม่มาก ความร่วมใจใส่ใจดูแลสภาพแวดล้อมของผู้คน มีปริมาณนักท่องเที่ยวต่อปีในช่วงก่อนโควิด-19 ราว 50,000 คนต่อปีภายใต้การจัดการด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้ามาสนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวและมุ่งพัฒนาต่อยอดไปสู่พื้นที่ต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และชุมชนเข้มแข็งแห่งหมู่เกาะภาคตะวันออกของไทย ผมมาเกาะหมากครั้งนี้ก็ดีใจที่ได้เห็นความตั้งใจของบางจากฯ ที่จะต่อยอดการศึกษาเรื่อง Blue Carbon รอบพื้นที่เกาะหมาก ร่วมผลักดันเกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยด้วยการทำงานกับอพท. และหน่วยงานในพื้นที่” ดร. ธรณ์กล่าวสรุป

วิธีช่วยโลกร้อนจริง ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลดคาร์บอนกับกักเก็บคาร์บอน การกักเก็บคาร์บอน เป็นเรื่องใหม่นอกจากมี Blue Carbon เป็นเครื่องมือสำคัญแล้วยังต้องอาศัยการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมด้วย
กลอยตา ณ ถลาง ผู้บริหารกลุ่มบางจากฯ ลงพื้นที่ประสานความร่วมมือกับชุมชนบนเกาะหมาก ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ พิเศษเพ่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

สำหรับกลุ่มบางจากฯ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี 2050 นั้นไม่ได้เป็นเพียงยุทธศาสตร์การบริหารธุรกิจในระดับองค์กร แต่เป็นเรื่องที่ต้องขยายเครือข่ายองค์ความรู้และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เพิ่มทางเลือกทั้งการ ลดคาร์บอนและดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมดูแลโลกได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ “ทุกคนช่วยได้” แค่ลงมือทำเท่านั้น

ภาพถ่ายมุมสูงแสดงให้เห็นหญ้าทะเลในแนวปะการังบริเวณเกาะหมาก