EN

02 มิถุนายน 2565

สำรวจเส้นทาง Net Zero กลุ่มบางจากฯ

สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ

เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปีค.ศ. 2050 ที่ทางกลุ่มบางจากฯ ตั้งไว้ โดยมีเป้าหมายแรกอย่างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีค.ศ. 2030 นั้นเป็นหนึ่งในตัวตั้งต้นสำคัญของยุทธศาสตร์องค์กรกลุ่มบางจากฯ ที่ขับเคลื่อนให้กระบวนการบริหารธุรกิจต่าง ๆ นั้นสอดคล้องและมุ่งหน้าสู่เป้าหมายสำคัญนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศ (Climate Action)

จากผู้นำและบุกเบิกพลังงานทดแทนมาแต่ต้น มาวันนี้ กลุ่มบางจากฯ ยังคงเดินหน้าเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย

สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อร่วมดูแลและส่งต่อโลกยั่งยืนให้คนรุ่นหลัง โดยมีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ในกลุ่มบางจากฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนี้

1. ต่อยอดธุรกิจสู่ขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์

ลงทุนเพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ต้อนรับปี 2565 กับการต่อยอดสู่ธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ ด้วยงบลงทุนกว่า 1,600 ล้านบาท ผ่านบริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด (Bangkok Fuel Pipeline and Logistics Company Limited – BFPL) เพื่อบริหารสิทธิการใช้ความจุของระบบท่อขนส่งน้ำมัน รวมถึงสิทธิการบริหารระบบท่อขนส่งน้ำมันและระบบคลังน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ครอบคลุมการบริหารระบบท่อขนส่งน้ำมันเบนซินและดีเซลจากคลังน้ำมันของบางจากฯ และลูกค้าอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานครถึงคลังน้ำมันบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมเครือข่ายขนส่งน้ำมันอากาศยานไปยังสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งนอกจากช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งด้วยยานพาหนะ ยังสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กร เพราะช่วยลดต้นทุน ลดความสูญเสียจากการขนส่งทางรถ และเป็นช่องทางใหม่ในการเพิ่มรายได้

2. ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน จากน้ำมันพืชใช้แล้ว เป็นรายแรกในประเทศไทย

จากผู้บุกเบิกนำพลังงานทดแทนมาใช้สำหรับเชื้อเพลิงการเดินทางบนท้องถนนอย่างแก๊สโซฮอล์ วันนี้ บางจากฯ ขยายสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อการเดินทางอากาศ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นความท้าทายระดับโลกในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมี เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เป็นทางออกที่ทั่วโลกจับตาและมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเนื่องจากตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์นั้นมีอัตราการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเอาสิ่งเหลือใช้ในครัวเรือนอย่างน้ำมันพืชใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ด้วยประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันพืชสูงประมาณ 900,000 ตันต่อปี

เป็นที่มาของความเคลื่อนไหวทางธุรกิจล่าสุด ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วชั้นแนวหน้าของประเทศมากว่า 40 ปีอย่างบริษัท ธนโชค ออย ไลท์ จำกัด รุกจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นรายแรกในประเทศไทย เพื่อรองรับกระบวนผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน จากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยเบื้องต้น มีแผนเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนด้วยกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 1,000,000 ลิตรต่อวัน รวมถึงการซื้อขายน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยมีกลุ่มบางจากฯ เป็นผู้มีสิทธิ์รับซื้อรายเดียวในประเทศไทย

3. ขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง

บีซีพีจี มีการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดต่อเนื่อง รวมถึงลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ ในขณะที่ บีบีจีไอ ผู้นำธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มบางจากฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เพื่อรุกต่อยอดองค์ความรู้ความชำนาญสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรแบบก้าวกระโดด ลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างความยั่งยืนแก่โลกได้อีกทางหนึ่ง

4. Greenovative Destination

กลุ่มธุรกิจการตลาด มุ่งมั่นต่อเนื่องในการพัฒนาสถานีบริการ Greenovative Destination เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด รองรับสังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในสถานีบริการ ฯลฯ และอินทนิล ยังคงเดินหน้าในฐานะร้านกาแฟรักษ์โลก ที่ทุกแก้วของอินทนิลเสิร์ฟด้วยไบโอคัพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตจากพืชธรรมชาติ 100% สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ และยังมีการต่อยอดนำแก้วใช้แล้วเป็น ”แก้วเพาะกล้า” โดยส่งมอบแก่กรมป่าไม้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ก่อนถึงเวลาย่อยสลายอีกด้วย

5. Green Carbon และ Blue Carbon

หาแนวทางดูดซับและกักเก็บคาร์บอนโดยธรรมชาติ ทั้งจากกรีน คาร์บอน (Green Carbon) ผ่านโครงการปลูกป่ากับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และสวนปาล์มของบริษัทฯ เอง และ บลู คาร์บอน (Blue Carbon หรือ คาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง) ผ่านโครงการปลูกป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบางจากฯ ได้ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด ด้วยหญ้าทะเลจัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon และเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกหลายเท่าตัว (ข้อมูลของ IUCN ในปี 2021 ระบุว่าสามารถดูดซับกักเก็บมากกว่าป่าบนบก 7-10 เท่า)

นอกจากนี้ บางจากฯ ยังต่อยอดการสนับสนุนเกาะหมากในฐานะแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นสถานที่แรกของประเทศที่มีการนำคำว่า Low Carbon Tourism Destination มาใช้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก และ อบต. เกาะหมาก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด การจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทะเลด้วยโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการัง ตลอดจนการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังบริเวณเกาะหมาก เป็นต้น

6. ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต Carbon Markets Club

Carbon Markets Club (www.carbonmarketsclub.com) ที่บางจากฯ จัดตั้งขึ้นร่วมกับอีก 10 องค์กรชั้นนำที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในฐานะสะพานเชื่อมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังเป็น “คลับของคนรักษ์โลก” ที่บุคคลทั่วไปก็สามารถร่วมแสดงพลังในเรื่องวิธีการมีส่วนร่วมลดโลกร้อนที่ทุกคนทุกภาคส่วนสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชดเชยคาร์บอนเครดิตส่วนบุคคล ที่เกิดจากชีวิตประจำวัน

มองไปข้างหน้า เส้นทางของบางจากฯ ยังคงเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทั้งในมุมธุรกิจและการดูแลผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions 2050 ซึ่งไม่เพียงสอดรับกระแสโลกในการร่วมดูแลอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นและความจริงจังในการลดก๊าซเรือนกระจกที่กล่าวถึงกันทั่วโลกภายหลังการประชุม COP26 ในปีที่แล้ว แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืนในการดำเนินกิจการที่กลุ่มบางจากฯ ดำเนินมานานและต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเน้นย้ำที่เป้าหมายที่ 13 คือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังสะท้อนความเป็น “บางจาก” ที่มีมาแต่เดิม ในการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดระยะเวลา 38 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินธุรกิจ

บางจากฯ ได้รับการประเมินจาก S&P Global ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI โดยได้รับ S&P Global Sustainability Award 2022 ระดับ Silver Class และได้รับการประเมิน MSCI ESG Rating ระดับ AA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดขององค์กรในธุรกิจพลังงานในประเทศไทยที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 14 องค์กรที่ได้รับการจัดอันดับรางวัลธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน จากการประเมินผลของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ที่พิจารณาการให้รางวัลจากหลักธรรมาภิบาล รายงานความยั่งยืน ขนาดธุรกิจ ตามเกณฑ์ชี้วัดในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เป็นต้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการดำเนินธุรกิจตามแนวทางสู่ความยั่งยืนในระยะยาวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ