EN

22 กรกฎาคม 2565

กลุ่มบางจากฯ ชู “BCP NET” กุญแจสำคัญสู่ NET ZERO 2050

เชื่อมโยงสังคมคาร์บอนต่ำ ต่อยอดจาก Blue Carbon สู่เกาะหมาก Low Carbon

จากเป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศไทยที่กำหนดเป้าหมายปี ค.ศ. 2065 เป็นปีที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ กลุ่มบางจากฯ ซึ่งได้ประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และ Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 มุ่งมั่นร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาวดังนี้

โดยในส่วนของ “C” Conserving Nature and Society มีภารกิจสำคัญคือการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย นำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ระหว่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย บริษัท บางจากฯ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตาบลเกาะหมาก และ วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

ต่อยอดการศึกษา Blue Carbon
เชื่อมโยงสังคมคาร์บอนต่ำ

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจาก กล่าวว่า ข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปีที่แล้ว รายงานว่าหญ้าทะเลสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า แต่ด้วยข้อมูลในประเทศไทยยังมีไม่มาก ผลการศึกษาเรื่องบลูคาร์บอนจากหญ้าทะเลในบริเวณเกาะหมากครั้งนี้จึงจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสดีที่กลุ่มบางจากฯ ได้ร่วมพัฒนาเกาะหมากในฐานะพื้นที่ต้นแบบของสังคมคาร์บอนต่ำในเมืองไทย ผ่านรูปแบบความร่วมมืออื่น ๆ อาทิ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบนพื้นที่บริเวณเกาะหมากได้ทดลองใช้ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่น ๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ต่อยอดสู่การสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง เป็นต้น

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกหลายเท่าตัว เนื่องจากเมื่อมีตะกอนไหลผ่านหญ้าทะเล หญ้าทะเลจะไปช่วยดักคาร์บอนให้จมลงสู่ใต้พื้นดิน เมื่อหญ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นก็สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดินได้มากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศมีการเข้าไปฟื้นฟู ส่วนที่เพิ่มมาจากการฟื้นฟูสามารถเอาไปหักลบกับกำแพงภาษีคาร์บอนในการส่งออกสินค้า หรือ เอาไปใช้ประโยชน์เป็นคาร์บอนเครดิตได้ นอกเหนือจากที่จะส่งผลดีต่อธรรมชาติ ช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้น เป็นผลดีกับชาวประมงในการหาปลา ไปต้องออกเรือไปไกลอีกด้วย

ฟากเสียงสะท้อนของภาคประชาชนบนพื้นที่เกาะหมาก นพดล สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด กล่าวว่า ในหญ้าทะเลจะมีสัตว์น้ำเล็ก ๆ อาศัยอยู่เป็นที่หลบภัย ปกติชาวบ้านก็จะทำมาหากินในหญ้าทะเลอยู่แล้ว พอบางจากฯ เข้ามาศึกษาเรื่องบลูคาร์บอนจากหญ้าทะเล ชาวบ้านก็ได้รู้เรื่องระบบนิเวศของหญ้าทะเลเพิ่มเติมว่าสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนได้ ชาวบ้านก็ยิ่งหวงแหนและอยากอนุรักษ์เพื่อให้ระบบนิเวศดียิ่งขึ้น ส่วน นล สุวัจนานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก กล่าวว่า เมื่อชุมชนรับรู้ถึงการมาศึกษาบลูคาร์บอนจากหญ้าทะเลของบางจากฯ ทำให้คนในพื้นที่มีความตื่นตัว เกิดความหวงแหนแนวปะการังเพราะจะช่วยให้เกาะหมากเป็น Low Carbon Destination ได้มากยิ่งขึ้น

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของบางจากฯ จะส่งผลดีต่อพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลของ อพท. อย่างเกาะหมากให้สามารถยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป รวมไปถึงการหากิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะช่วยดูดซับคาร์บอน เพื่อที่จะชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหมาก

สำหรับการดำเนินงานขั้นต่อไปของการศึกษาการดูดซับคาร์บอนของหญ้าทะเล จะวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนการปลูกหญ้าทะเลและฟื้นฟูพื้นที่ต่าง ๆ โดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด