EN

04 เมษายน 2565

บางจากฯ ลงพื้นที่ร่วมกับ คณะประมง มก. ร่วมหนุน อพท. ขับเคลื่อนเกาะหมาก Low Carbon Destination แห่งแรกของไทย

  • ร่วมโปรโมต Low Carbon Destination เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • เร่งศึกษาการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในทะเลด้วย Blue Carbon จากแหล่งหญ้าทะเล ในแนวปะการังผืนใหญ่ในภาคตะวันออกรอบเกาะหมาก

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมลงพื้นที่ประสานความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เพื่อศึกษาโอกาสในการสนับสนุนการพัฒนาเกาะหมากให้เป็น Low Carbon Destination แห่งแรกของทะเลไทย ครอบคลุมกิจกรรม ทั้งบนบกและในทะเล มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

โดยในเบื้องต้น บางจากฯ ให้การสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาการใช้ แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนผ่านระบบนิเวศทางธรรมชาติทางทะเล (Blue Carbon) รอบพื้นที่เกาะหมาก และจากการลงพื้นที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือความร่วมมือกับชุมชน ในพื้นที่ผ่านวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก รวมถึงจะมีการทำงานร่วมกับ อบต. เกาะหมาก ซึ่งทุกฝ่าย มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างความยั่งยืนและมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลสภาพแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล ผ่านภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด การจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทะเลด้วยโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการัง ตลอดจนการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังบริเวณเกาะหมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ การสนับสนุนการศึกษา Blue Carbon ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกและการร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนาเกาะหมากเป็น Low Carbon Destination นั้นช่วยตอกย้ำยุทธศาสตร์ของกลุ่มบางจากฯ ที่กำลังมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030